วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

พันธมิตรฯเล็งร้องป.ป.ช.ฟัน ขรก.ยันนายกฯปล่อยม็อบชนม็อบ

พันธมิตรฯเล็งร้องป.ป.ช.ฟัน ขรก.ยันนายกฯปล่อยม็อบชนม็อบ

วันนี้ (27 ก.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรพลังประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยว่า ในวันอังคารที่ 29 ก.ค.นี้ กลุ่มพันธมิตรฯ พร้อมด้วยทนายความและผู้ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับกลุ่มต่อต้านพันธมิตรฯ ที่จังหวัดอุดรธานี จะเดินทางไปร้องทุกข์ต่อ ป.ป.ช. เพื่อเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นข้าราชการและตำรวจ นอกจากนี้ กลุ่มพันธมิตรฯ อยู่ระหว่างการศึกษาข้อกฎหมาย เพื่อจะขยายผลการร้องทุกข์กล่าวโทษไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและนายกรัฐมนตรี เนื่องจากพบว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการ และมีการสั่งการจากส่วนกลาง
นายสุริยะใส กล่าวว่า สำหรับการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด เบื้องต้นกลุ่มพันธมิตรฯ จะหารือกับสภาทนายความเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลโยกย้ายตำรวจและข้าราชการในจังหวัดออกจากพื้นที่เป็นการชั่วคราวระหว่างการดำเนินคดี กลุ่มพันธมิตรฯ มั่นใจว่า การดำเนินต่าง ๆ จะได้รับการตอบสนองจาก ป.ป.ช.เป็นอย่างดี เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายกับเหตุการณ์ทำร้ายผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ที่เซ็นทรัลเวิลด์ แต่มีความรุนแรงมากกว่า


update by : Patcharin Udomwong 5131601138

วันพุธที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

เตือนไทยระวังเสีย เกาะกูด ซ้ำรอย ปราสาทพระวิหาร

อดีตผบ.หน่วยปฏิบัติการลำน้ำโขง เตือนไทยระวังเสีย'เกาะกูด'ซ้ำรอย'ปราสาทพระวิหาร'อดีตผบ.หน่วยปฏิบัติการลำน้ำโขง เตือนไทยระวังเสีย'เกาะกูด'ซ้ำรอย'ปราสาทพระวิหาร' หวั่นกระทบเส้นเขตแดนอ่าวไทยสูญแหล่งพลังงานมูลค่ามหาศาล รายได้นับแสนล้านต่อปี ร้อง'แม้ว'เผยข้อมูลคุย'ฮุนเซ็น' เผยสหรัฐฯส่งเรือรบรุ่นใหญ่เทียบท่าเขมรแล้ว พร้อมโดดร่วมสงครามมติชนออนไลน์ - พล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมย์ อดีตผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการลำน้ำโขง(นปข.) กล่าวถึงกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ว่า เกิดจากเมื่อครั้งประเทศกัมพูชาตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ขีดเส้นแบ่งเขตแดนจนทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.ขึ้น เช่นเดียวกับเส้นแบ่งเขตแดนในทะเลที่ฝรั่งเศสขีดเส้นเขตไหล่ทวีป ซึ่งเป็นเส้นแสดงความนัยยะเป็นเจ้าของ มีสิทธิอธิปไตยในทรัพยากรใต้ท้องทะเล เช่น ฟอสซิล ก๊าซและน้ำมัน โดยเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาเริ่มจากหลักเขตแดนที่ 73 บริเวณบ้านหาดเล็ก จ.ตราด ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ผ่านพื้นที่ 1 ใน 3 ของเกาะกูด ต่างจากเส้นเขตไหล่ทวีปของไทย ซึ่งเริ่มจากหลักเขตแดนที่ 73 เหมือนกัน แต่ไปในทางทิศใต้และไม่ผ่านพื้นที่เกาะกูด เพราะถือว่าเกาะกูดเป็นของไทยตั้งแต่แรก เมื่อเส้นเขตไหล่ทวีปของทั้งสองประเทศไม่ตรงกัน จึงเกิดพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีปมากกว่า 20,000 ตร.กม. พล.ร.ท.ประทีป กล่าวเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีปดังกล่าวนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2550 กัมพูชาประกาศว่า ได้ให้บริษัท Chevron Corp ของสหรัฐอเมริกาขุดสำรวจและพบว่าเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ขนาด 6,278 ตร.กม. ประกอบกับผลการศึกษาของสหประชาชาติ ธนาคารโลกและมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คาดว่าแหล่งพลังงานดังกล่าวจะมีน้ำมันดิบประมาณ 2,000 ล้านบาร์เรลและก๊าซธรรมชาติประมาณ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นรายได้มหาศาลสูงถึง 6,000 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 2.1 แสนล้านบาท ต่อปี นอกจากนี้กัมพูชาประกาศว่าจะนำน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติขึ้นมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ในปี พ.ศ.2550 จึงน่าสังเกตุว่าเหตุใดประเทศไทยจึงยอมให้กัมพูชาขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลได้'เขาพระวิหารจะเป็นบทเรียนในอนาคตที่ยิ่งใหญ่กว่าปัจจุบัน กรณีเขาพระวิหาร เราสูญเสียแค่อำนาจอธิปไตยความเป็นชาติและโบราณวัตถุ และสูญูเสียความรู้สึก แต่ในทะเลนอกจากเสียอำนาจอธิปไตยแล้ว จะสูญเสียทรัพยากรที่เป็นมูลค่าที่จับต้องได้อีกมหาศาล' อดีตผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการลำน้ำโขง กล่าวนอกจากนี้ อดีตผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการลำน้ำโขงกล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. 2544 ได้มีการตกลงในบันทึกความเข้าใจ(MOU) ภายใต้คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (Thai-Cambodian Joint Technical Committee – JTC) ซึ่งมีนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในขณะนั้นเป็นประธานฝ่ายไทย และนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นประธานฝ่ายกัมพูชา โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนด เงื่อนไขที่ตกลงร่วมกันของสนธิสัญญาการพัฒนาร่วม การแบ่งปันค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ของการแสวงประโยชน์ทางทรัพยาการปิโตรเลียมในพื้นที่ ส่วนการแบ่งเขตทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะระหว่างเขตที่แต่ละฝ่ายอ้างสิทธิอยู่ในพื้นที่ที่ต้อง 'แบ่งเขตตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งใช้บังคับ' ทั้งนี้ หากมีการแบ่งเขตตามที่ระบุไว้ ต้องระวังอย่างมาก เพราะไทยอาจเสียเกาะกูดซ้ำรอยปราสาทพระวิหาร และอาจทำให้พื้นที่เขตไหล่ทวีปเปลี่ยนแปลงและได้พื้นที่ในอ่าวไทยน้อยลง พล.ร.ท.ประทีป กล่าวต่อว่า หลังจากนั้น ในปี พ.ศ.2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเยือนกัมพูชา เพื่อเจรจากับฮุนเซน ผู้นำกัมพูชา ทำความตกลงพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมและแบ่งเขตทางทะเล ซึ่งยังไม่เคยเปิดเผยรายละเอียดในข้อตกลงในเรื่องส่วนการแบ่งผลประโยชน์เลย จึงอยากเรียกร้องให้เปิดเผยรายละเอียดความคืบหน้าของการตกลงทั้งสองกรณีดังกล่าว อดีตผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการลำน้ำโขง(นปข.) กล่าวทิ้งท้าย ที่น่าสงสัยอีกอย่างหนึ่ง คือพฤติกรรมของสหรัฐฯ ในระยะนี้ โดยเฉพาะการสร้างสถานทูตในกรุงพนมเปญใหญ่กว่าสถานทูตประจำประเทศไทย รวมทั้งได้ส่งเรือรบพิฆาตนำวิถีขนาดใหญ่เทียบท่าเรือสีหนุวิลล์ของกัมพูชาอยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่ไม่เคยจอดเทียบท่าดังกล่าวมาก่อน เหมือนมีนัยยะจะแสดงพลังบางอย่าง ทำให้เกิดความกังวลว่า หากเหตุการณ์พิพาทบานปลายกลายเป็นความรุนแรงระดับสงคราม การรบในครั้งนี้ไทยคงไม่ได้สู้กับกัมพูชาเพียงประเทศเดียวเท่านั้น


ที่มา : http://www.dek-d.com/board/view.php?id=1130537

โพสต์โดย : นางสาวภัทราสิยากร ณ นคร ID: 5131601005


วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สำรวจริมรั้ว...ไทย-เขมร


'อรัญ-โรงเกลือ' 'ปากท้อง' ยังมาก่อน

จากกรณี “ปราสาทพระวิหาร” ถึงวันนี้ความตึงเครียดดำเนินสู่สถานการณ์ไม่พึงประสงค์หรือไม่-อย่างไร ?? ก็อย่างที่ทราบ ๆ กัน อย่างไรก็ตาม ณ ช่วงกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ก่อนที่ไทย-กัมพูชาจะเสริมกำลังชายแดน ก่อนที่ไทยจะตีกันเองจนเลือดสาด กับชายแดนไทย-กัมพูชาจุดอื่นบางจุด...ก็มีแง่มุมน่าสนใจ

อย่างเช่น “ชายแดนด้านอรัญประเทศ-ปอยเปต”

อย่างเช่นที่ “ตลาดโรงเกลือ” แหล่งค้าขายสำคัญ

ทั้งนี้ “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ได้ส่งทีมไปกับคณะของกรมกิจการพลเรือนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อร่วมสังเกตการณ์การปฏิบัติหน้าที่ด้านการพัฒนาของฝ่ายทหารบริเวณพื้นที่ชายแดนด้าน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นด้านที่มีข่าวว่าทางการไทย-กัมพูชาจะร่วมประชุมหารือกันในวันที่ 21 ก.ค.นี้ โดยจากการสังเกตการณ์นอกรอบก็มีแง่มุมเกี่ยวกับคนไทย-คนกัมพูชาที่น่าสนใจ ที่ไม่เกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหาร

ณ พื้นที่ด้านนี้ พื้นที่ฝั่งตรงข้ามอรัญประเทศของไทยคือเมืองปอยเปต จ.บันเตเมียนเจย ของกัมพูชา ซึ่งก็อย่างที่หลายคนทราบคือพื้นที่บริเวณนี้ ทางฝั่งไทยเรามีแหล่งการค้า “ตลาดโรงเกลือ” เป็นแลนด์มาร์ค สำคัญ ที่ทั้งไทย-กัมพูชาทำมาหากินร่วมกันอยู่ ขณะที่ฝั่งกัมพูชามีดง “กาสิโน” เป็นไฮไลต์ มีกาสิโนหลายแห่ง

บริเวณจุดผ่านแดนถาวรด้านอรัญประเทศ-ปอยเปต ซึ่งเป็นทางเข้า-ออกของนักพนันจากไทย ณ ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมานั้น บรรยากาศบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองฝั่งไทยออกไปปอยเปต...ยังคงคึกคัก มีทั้งชาวไทยและต่างชาติต่อคิวเข้าแถวเพื่อรอยื่นเอกสารผ่านแดนเต็มเกือบทุกช่อง โดยด้านนอกก็มี “กองทัพรถเข็น” ของ “แรงงานกัมพูชา” หลายสิบชีวิตรอคำอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เพื่อเดินทางกลับไปยังฝั่งกัมพูชา ข้าวของส่วนใหญ่ที่มีการรอขนไปยังฝั่งกัมพูชา ก็มีตั้งแต่ข้าวสารอาหารแห้ง ไปจนถึงเครื่องดื่มสารพัด

ขณะที่ในจุดตรวจฝั่งขาเข้ามาจากกัมพูชาสู่ไทย ก็พบว่ามีแรงงานรับจ้างชาวกัมพูชาชักแถวรอยื่นเอกสารเข้าเมืองกันเนืองแน่นตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ รวมไปถึงมีขบวนรถเข็นไม้ล้อลากหลายสิบคันที่รอขออนุญาตข้ามแดนมาฝั่งไทยเพื่อรับจ้างขนสินค้ากลับไป ซึ่งโฟกัสเฉพาะจุดนี้เหตุการณ์ดูจะปกติเหมือนที่เคยเป็นมา

สภาวการณ์ในวันนั้นยังไม่มีทีท่าว่าจะตึงเครียดแต่อย่างใด

แรงงานหนุ่มกัมพูชารายหนึ่งบอกกับทีม “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ว่า... มีอาชีพรับจ้างเข็นรถเข้ามาเพื่อซื้อและขนสินค้าไทยนำกลับไปยังฝั่งกัมพูชา ซึ่งเขาทำอาชีพนี้มาได้หลายปีแล้ว จึงพูดภาษาไทยได้บ้าง โดยจะมีรายได้จากค่าจ้างในอัตรารอบละ 30-100 บาท ขึ้นกับการตกลงกับผู้ว่าจ้างหรือปริมาณของที่ต้องขน

“วันนี้ครัวในบ่อนแห่งหนึ่งจ้างให้เข้ามาหาซื้ออาหาร พวกเนื้อ ปลา ผักสด”...แรงงานหนุ่มกัมพูชารายนี้บอกพลางชี้ให้ดูข้าวของที่กองพะเนินอยู่เต็มรถเข็น และยังกล่าวด้วยว่า... “รายได้ก็พออยู่ได้ ดีกว่าไม่มีงานทำ เพราะผมไม่มีที่ดินไว้เพาะปลูก ถ้าไม่มีงานตรงนี้ผมก็ไม่รู้จะไปทำอะไร”

บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองในตอนนั้น บรรยากาศยังคึกคัก อย่างไรก็ตาม กับ “ตลาดโรงเกลือ” ตลาดการค้าชายแดนที่สำคัญในฝั่งไทย กลับตกอยู่ในความเงียบเหงา แม้จะมีคนเดินจับจ่ายซื้อของ บ้างก็เดินกางร่มเลือกซื้อหาต่อรองราคาสินค้า บ้างก็ใช้วิธีขับรถกอล์ฟที่มีบริการให้เช่า แต่โดยรวมก็ดูบางตา ที่มีมากหน่อยก็เห็นจะเป็นลูกจ้างชาวกัมพูชาที่ยืนกระจายตัวอยู่แทบทุกซอยและทุกหัวมุมถนนในตลาดโรงเกลือ

“ลูกค้ามีน้อยลงเยอะ” ...เป็นเสียงบอกเล่าของหญิงสาวชาวกัมพูชาในร้านขายสินค้าเครื่องหนัง ซึ่งเธอยังบอกอย่างฉะฉานด้วยภาษาไทยสำเนียงเขมรต่อไปว่า... ที่ลูกค้าบางตาไปเยอะส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีตลาด ย่อย ๆ กระจายตัวมากขึ้น ไม่ได้รวมกลุ่มเป็นตลาดเดียวเหมือนเดิม ลูกค้าก็เลยกระจายไป ซึ่งก็ถือว่ายังพอขายได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าที่มาซื้อทีละเยอะ ๆ เพื่อนำไปขายต่อ มากกว่าลูกค้าจรหรือนักท่องเที่ยว

ถามว่าเกี่ยวกับกรณีเขาพระวิหาร-ปราสาทพระวิหารหรือเปล่า ? “คิดว่าคงไม่ใช่ น่าจะเพราะน้ำมันแพง เศรษฐกิจไม่ดี คนเลยไม่ค่อย ชอปปิงมากกว่า”...เป็นคำตอบจากหญิงสาวกัมพูชาคนนี้

ประเด็นนี้ก็สอดคล้องกับมุมมองของเจ้าหน้าที่ไทยรายหนึ่งที่ด่านอรัญฯ ที่บอกไว้เมื่อกลางเดือน ก.ค.ว่า... เรื่องเขาพระวิหารยังไม่ส่งผลต่อคนไทย-คนกัมพูชาที่จุดนี้ “เพราะวิถีชีวิตที่นี่ผูกติดกับเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องอื่น” ที่นักท่องเที่ยวน้อยลงก็คงเพราะเศรษฐกิจ ส่วนกลุ่มนักพนันไม่ต้องพูดถึง ถ้าด่านไม่ปิด โดยเฉลี่ยก็ยังมีผ่านเข้า-ออกวันละ 2,500-3,500 คน ยิ่งเป็นช่วงวันหยุดยาวอาจถึง 4,000-5,000 คน

ด้านแหล่งข่าวทหารรายหนึ่งก็บอกคล้ายกันในวันเดียวกันว่า... ความสัมพันธ์ของคนไทย-กัมพูชาบริเวณนี้ไม่น่าจะมีผลกระทบจากกรณีเขาพระวิหาร เพราะส่วนใหญ่มองว่าไม่ใกล้ตัวเหมือน “เรื่องปากท้อง” พื้นที่นี้คนกัมพูชาจำเป็นต้องอาศัยไทยหลายด้าน ทั้งเรื่องปากท้อง ธุรกิจการค้า ซึ่งถ้ามีการ “ปิดด่าน” เชื่อว่าไทยจะไม่มีผลกระทบอะไรมาก ยกเว้นกับผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มเท่านั้น ที่รายได้อาจขาดหายไป

ทิ้งท้าย ทหารนายนี้ชี้ไว้ว่า... เพราะผลประโยชน์มันผูกกันอยู่ ทั้งธุรกิจเรา ธุรกิจเขา อีกทั้งความสัมพันธ์ระดับชาวบ้านล่าง ๆ ก็ดี ดูอย่างตลาดโรงเกลือ ร้อยละ 80 คนเขมรทั้งนั้น คนไทยที่ทำกันจริง ๆ แค่ร้อยละ 20

“ก็ลองคิดดู ถ้าปิดด่าน ทางนั้นจะกระเทือนแค่ไหน ? แม้จะมีเหตุการณ์อะไร และทางเราจะปิดด่าน แต่ฝั่งนั้นก็คงจะไม่อยากให้ปิดหรอก !!”.


update by : Patcharin Udomwong 5131601138

วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

อัยการฟ้อง"จำเลยแม้ว"ออกกฎหมายเอื้อธุรกิจครอบครัว

อัยการฟ้อง"ทักษิณ"เป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีทุจริตต่อหน้าที่แปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตนเองและพวกพ้อง, ทำให้เกิดความร่ำรวยผิดปกติกว่า 6.5 หมื่นล้านบาท

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี



วันนี้(11 ก.ค.)เวลา 11.00 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด ประธานคณะทำงานรับผิดชอบสำนวนคดีของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)ได้มอบหมายให้นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ เดินทางไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อยืนฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

นายวัฒวุฒิ กล่าวว่า สำนวนที่ คตส.ส่งให้อัยการ อัยการพิจารณาแล้วเห็นว่าสมบูรณ์เพียงพอ ที่จะยื่นฟ้องคดีได้ จึงดำเนินการสั่งฟ้องคดี และให้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลในวันนี้

โดยการยื่นฟ้องวันนี้ นายเศกสรรค์ ได้นำคำฟ้องพร้อมสำนวน จำนวน 3 กล่องใหญ่ 19,993 แผ่น ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหายกว่า 60,000 ล้านบาท ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 152 และ 157 เป็นเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที๋โดยมิชอบ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ทั้งนี้ ในท้ายคำร้องระบุให้ พ.ต.ท.ทักษิณ รับโทษต่อจากคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก

รายละเอียดคำฟ้อง จะนำเสนอให้ทราบต่อไป




credit information & picture : http://manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9510000081602

update by : Kotchakorn Sunthikhunakorn 5131601001

วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

วันดับ “พลังแม้ว” ศาลให้ใบแดง “ยุทธ ตู้เย็น”

credit from www.manager.co.th
“ยุทธ ตู้เย็น” กรรมตามสนอง ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง พิพากษาให้ใบแดง พร้อมเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ส่งต่อ กกต.-อัยการสูงสุด เสนอศาล รธน.ยุบพรรคพลังประชาชน

นายยงยุทธ ติยะไพรัช กก.บริหารพรรคพลังประชาชน สส.สัดส่วนกลุ่ม 1 และรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน
วันนี้ (8 ก.ค.) เมื่อเวลา 16.30 น. ที่ศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง สนามหลวง วัองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ ลต. 38 /2551 ระหว่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) ผู้ร้อง และ นายยงยุทธ ติยะไพรัช ส.ส.สัดส่วนกลุ่มที่ 1 และรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และ น.ส.ละออง ติยะไพรัช น้องสาวนายยงยุทธ ส.ส.แบ่งเขต 3 จ.เชียงราย พรรคพลังประชาชน ผู้คัดค้านที่ 1-2 กระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ( ส.ว.) พ.ศ.2550 ด้วยการทุจริตการเลือกตั้งด้วยการแจกเงินให้กับกลุ่มกำนัน อ.แม่จัน จ.เชียงรายซึ่งเป็นตัวแทน (หัวคะแนน) ของนายยงยุทธ แจกเงินซื้อเสียงเพื่อให้มีการลงคะแนนเลือกผู้สมัครของพรรคประชาชน โดย กกต. ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายยงยุทธ ซึ่งให้ถูกใบแดง และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในเขต 3 จังหวัดเชียงราย ที่ น.ส.ละออง ถูกให้ใบเหลือง

น.ส.ละออง ติยะไพรัช น้องสาวนายยงยุทธ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าเมื่อวันที่ 25 ต.ค.50 ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 และในการเลือกตั้งเมื่อวันที่23 ธ.ค. 50 ผลปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน กลุ่มจังหวัดที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจงเชียงรายเขตเลือกตั้งที่ 3 ได้รับเลือกตั้ง ผู้ร้องได้ประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 18 ม.ค.51 ให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนกลุ่มจังหวัดที่ 1 และผู้คัดค้านที่2เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจ.เชียงรายเขตเลือกตั้งที่ 3
ต่อมานายวิจิตร ยอดสุวรรณ ผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.จ.เชียงรายเขตเลือกตั้งที่ 3 พรรคชาติไทย ยื่นคำร้องคัดค้านว่าการเลือกตั้งส..ส.ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านที่ 1 และที่2 เมื่อวันที่ 23ธ.ค.50 มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คณะกรรมการสิบสวนสอบสวนทำการสิบสวนสอบสวนแล้วได้ความว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค..50 หลังจากมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไปพ.ศ. 50 กลุ่มกำนัน ในอ.แม่จัน 10 คน และนายบรรจง ยังยืนนายกเทศมนตรี อ.แม่จัน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นตัวแทน(หัวคะแนน)ของผู้คัดค้านที่ 1 ได้โดยสารเครื่องบินจากจ.เชียงรายไปพบผู้คัดค้านที่1 ที่กทม. และผู้คัดค้านที่ 1 ได้ขอให้กลุ่มกำนันช่วยเหลือสนับสนุนผู้คัดค้านที่ 2 และนายอิทธิเดช แก้วหลวง ในการเลือกตั้งส.ส.ในวันที่ 23 ธ.ค.50 และผู้คัดค้านที่ 1 ให้นายบรรจงนำเงินมามอบให้แก่กลุ่มกำนันคนละ 2 หมื่นบาท และให้นายชัยวัฒน์ ฉางข้าวคำ กำนันต.จันจว้า อีก 4 หมื่นบาท เป็นค่าโดยสารเครื่องบินของกลุ่มกำนันที่นายชัยวัฒน์ได้ทดลองจ่ายไปก่อน
ผู้ร้องพิจารณาแล้วเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ได้กระทำการดังกล่าวจริง จึงเป็นการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้อื่น เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองใด อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 53 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรธน.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พ.ศ. 2550 ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีผลทำให้การเลือกตั้งส.ส.ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านที่ 1 มิได้เป็นไปโดยสุจิตและเที่ยงธรรม ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำการสนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจ ให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว แต่การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 มีผลทำให้การเลือกตั้งส.ส.ในส่วนเกี่ยวกับผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ได้เป็นไปโดยสุจิตและเที่ยงธรรม ควรให้มีการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของผู้คัดค้านที่ 1และให้มีการเลือกตั้งส.ส.เชียงรายเขต 3 ใหม่ จำนวน 1 คนแทนผู้คัดค้านที่ 2 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งผู้คัดค้านที่ 1 และสั่งให้มีการเลือกตั้งส.ส.จ.เชียงรายเขต 3 ใหม่ จำนวน1 คนแทนผู้คัดค้านที่ 2
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง เนื่องจากนายวิจิตร ยอดสุวรรณ ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งเพราะสำคัยผิดในข้อเท็จจริง และต่อมานายวิจิตรได้ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ซึ่งนายวิจิตรมีสิทธิ์ที่จะขอถอนได้ เพราะไม่มีกฎหมายห้าม และการคัดค้านการเลือกตั้งหากก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ถูกคัดค้านย่อมมีผลต่อความรับผิดในทางกฎหมาย เฉพาะตัวของผู้คัดค้าน ผู้ร้องจึงไม่อาจใช้ดุลพินิจ ไม่อนุญาตให้ถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจผู้ร้อง ระเบียบกกต.ว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาดพ.ศ. 50 ที่ผู้ร้องอ้างในการมีคำสั่งไมอนุญาต เป็นระเบียบที่ใช้บังคับไม่ได้ เพราะเป็นการจำกัดสิทธิ์ของบุคคล ขัดต่อรธน.พ.ศ. 50 และในทางปฏิบัติที่ผ่านมา ผู้ร้องก็เคยอนุญาตให้ถอนคำสั่งไม่อนุญาตให้ถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งโดยมิชอบ และเป็นการเลือกปฏิบัติถือว่าไม่มีการคัดค้านการเลือกตั้งอีกต่อไป การที่ผู้ร้องอาศัยเหตุแห่งการร้องคัดค้านการเลือกตั้ง และพยานหลักฐานของนายวิจิตรนำมาพิจารณาและมีมติว่าการเลือกตั้งส.ส.ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นไปด้วยความไม่สุจริตและเที่ยงธรรม จึงไม่ชอบ และมติของผู้ร้องดังกล่าวยังขัดต่อพ.ร.บ.ว่าด้วยกกต. พ.ศ. 2550 มาตรา 8 วรรค 2 เนื่องจากมีกกต.1คนงดออกเสียง ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้นัดหมายหรือเรียกกลุ่มกำนันในอ.แม่จัน จ.เชียงรายให้ไปพบที่กทม.เพื่อช่วยเหลือผู้สมัครพรรคพลังประชาชน แต่กลุ่มกำนันไปพบผู้คัดค้านที่ 1 เพื่อขอให้ช่วยทวงหนี้จากนายชูชาติ จันทวาลย์ อดีตสมาชิกอบจงเชียงรายที่ค้างชำระค่ารับเหมาขุดลอกคูคลอง และทำถนนตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและทำถนน จำนวน 1.9 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มกำนัน ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้จ่ายงิน หรือมอบให้ผู้หนึ่งผู้ใดจ่ายเงิน จัดเลี้ยงอาหาร จ่ายค่าเช่าห้องพัก โรงแรมแอสซีพาร์คให้แก่กลุ่มกำนัน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายของกลุ่มกำนัน ในการเดินทางไปกทม.พยานหลักฐานที่ผู้ร้องได้รับจากนายวิจิจร เป็นพยานที่เกิดจากการสร้าง หรือ ปรุงแต่งขึ้นมาเพื่อกลั่นแกล้งกล่าวหาผู้คัดค้านที่ 1 นายวิจิตรจึงขอถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง เนืองจากพยานหลักฐานเป็นเท็จ แต่คณะกรมการสืบสวนสอบสวนและผู้ร้องไม่ได้รับฟังข้อโต้แย้ง และคำให้การแก้ข้อกล่าวหา ตลอดจนพยานหลักฐานจองผู้คัดค้านที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องการสร้าง หรือปรุงแต่พยานหลักฐานดังกล่าว การพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องคัดค้านการเลือกตั้งของผู้ร้องมีลักษณะรวบรัด และรับฟังพยานหลักฐานไม่เสร็จสิ้น จนสิ้นกระแสความ
ศาลพิจารณาเห็นแล้วคดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 1 กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ นั้น ได้ความจากคำเบิกความของนายวิจิตร ผู้ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งว่า เมื่อต้นเดือน ต.ค. 50 ได้ลงพื้นที่ต่างๆ ใน จ.เชียงราย เพื่อสำรวจความนิยมใน จ.เชียงราย ของประชาชน และได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวว่า มีการนำกำนันตำบลต่างๆ ใน อำเภอแม่จัน 10 ตำบล เข้าพบผู้บริหารพรรคพลังประชาชนที่ กทม. เมื่อวันที่ 28 ต.ค.50 นายวิจิตร จึงรายงานให้นายมณฑล สุทธาธนโชติ หัวหน้าทีมผู้สมัคร ส.ส. เชียงราย พรรคชาติไทยทราบ และตกลงให้ผู้สังเกตการณ์เฝ้าติดตามพฤติกรรมกำนันดังกล่าวในทางลับว่าจะมีเหตุการณ์ตามที่ได้รับแจ้งหรือไม่ ซึ่งผลการตรวจสอบปรากฏว่า ในวันที่ 28 ต.ค. กลุ่มกำนัน ทั้งสิบคน โดยสารเครื่องบิน จาก จ.เชียงราย มาพบ ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ กทม.จริง ซึ่งมีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวไว้เป็นหลักฐานด้วย จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้รวบรวมมา นายวิจิตร เชื่อว่าผู้เกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชาชน ได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จึงได้ยื่นคัดค้านการเลือกตั้งโดยมีการส่งมอบแผ่นซีดีบันทึกภาพไปพร้อมกับคำร้องด้วย ซึ่งในเรื่องนี้นางกัญชรส ชาภู่พวง อาสาสมัครผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง ได้ให้การต่อคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน สอดคล้องต้องกัน
จากคำให้การของนายวิจิตร และนางกัญชรส แสดงให้เห็นว่า การร้องคัดค้าน นายวิจิตร ไม่ได้กระทำโดยลำพัง และไม่ได้ทำไปเพียงเพราะการบอกเล่าจากแหล่งข่าวเท่านั้น แต่ได้มีการปรึกษาหารือกันและมีการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงจากข่าวที่ได้รับ การที่นายวิจิตร ขอถอนคำร้องการเลือกตั้งโดยอ้างวาเอกสาร และแผ่นซีดีที่ยื่นประกอบคำร้องคัดค้านนั้นนายวิจิตรได้รับมาจากบุคคลอื่นซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครและเกรงว่า และเกรงว่าจะเป็นพยานหลักฐานเท็จ ย่อมเป็นข้ออ้างที่มีเหตุผลที่ให้รับฟัง นอกจากนี้ภาพเหตุการณ์เกี่ยวกับการเดินทางของกลุ่มกำนันที่มีการบันทึกลงในแผ่นซีดีดังกล่าว กลุ่มกำนันและผู้คัดค้านทั้งสองก็ไม่ได้ปฏิเสธว่ามิใช่ภาพของกลุ่มกำนันใน อ.แม่จัน คงโต้แย้งเกี่ยวกับวัน เวลา ที่มีการบันทึกข้อมูลหรือภาพเคลื่อนไหวลงแผ่นซีดีว่ามีพิรุธ โดยอ้างว่าแผ่นซีดีมีการบันทึกข้อมูลลงวันที่ 25 ตุลาคม 2550 ซึ่งเป็นวันก่อนที่กลุ่มกำนันจะเดินทางไปกรุงเทพฯในวันที่ 28 ตุลาคม 2550 แสดงว่ามีการจัดฉากขึ้นมา อันเป็นการสร้างพยานหลักฐานเพื่อกล่าวหาผู้คัดค้านที่ 1 นั้น จากภาพเหตุการณ์เกี่ยวกับการเดินทางของกลุ่มกำนันตามแผ่นซีดี เป็นภาพถ่ายกลุ่มกำนันขณะอยู่ที่สนามบินจังหวัดเชียงราย ส่วนแผ่นวีซีดีอีกหนึ่งแผ่นเป็นภาพถ่ายกลุ่มกำนันขณะเดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ ไปรอรถโดยสาร เมื่อพิจารณารูปร่างและลักษณะการแต่งกายของกำนันบางคนที่ปรากฏในแผ่นซีดีทั้งสองแผ่นดังกล่าวเห็นได้ว่าเป็นภาพถ่ายเหตุการณ์เกี่ยวกับการเดินทางของกลุ่มกำนันจากจังหวัดเชียงรายมากรุงเทพในคราวเดียวกัน เมื่อแผ่นซีดีแผ่นที่สองระบุว่ามีการบันทึกข้อมูลหรือภาพเคลื่อนไหวในวันที่ 28 ตุลาคม 2550 จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการบันทึกข้อมูลภาพถ่ายซีดีแผ่นแรกในวันที่ 25 ตุลาคม 2550 ส่วนการที่แผ่นซีดีแผ่นแรกบันทึกข้อมูลวันดังกล่าว อาจมีสาเหตุมาจากความผิดพลาดคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการตั้งวันของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้บันทึกข้อมูลหรือภาพเคลื่อนไหวลงแผ่นซีดี โดยมีการตั้งเวลาผิดจากวันเวลาถูกต้องแท้จริง พยานหลักฐานของผู้ร้องที่ปรากฏตามแผ่นซีดีของผู้ร้องจึงหาเป็นพิรุธไม่ และเชื่อได้ว่าภาพของกลุ่มกำนันที่ปรากฏในแผ่นซีดีดังกล่าวเป็นภาพเหตุการณ์การเดินทาง ของกลุ่มกำนันจากเชียงรายไปกรุงเทพในวันที่ 28 ตุลาคม 2550
สำหรับสาเหตุที่กลุ่มกำนันเดินทางไปพบผู้คัดค้านที่ 1 นั้น ได้ความจากคำเบิกความของนายชัยวัฒน์ ว่าดาบตำรวจเทพรัตน์ เขื่อนคุณา เป็นผู้ประสานงานให้กลุ่มกำนันเดินทางไปกรุงเทพโดยเครื่องบิน และให้นายชัยวัฒน์ ทดรองจ่ายค่าเครื่องบินไปก่อนและจะคืนให้เมื่อเดินทางถึงกรุงเทพ โดยมีนายบรรจง ยางยืน ร่วมเดินทางไปด้วยและเป็นผู้จัดหารถตู้พากลุ่มกำนันจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังที่ทำการพรรคพลังประชาชน แต่ไม่พบผู้คัดค้านที่ 1 นายบรรจง จึงพากลุ่มกำนันไปพักที่โรงแรมเอสซีปาร์ค ต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 ได้ไปพบกลุ่มกำนันที่ห้องรับรองของโรงแรมดังกล่าว โดยในการพบกันผู้คัดค้านที่ 1 ขอให้กลุ่มกำนันให้ช่วยผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับการเลือกตั้งจากนั้นนายชัยวัฒน์และกลุ่มกำนัน ขอให้ผู้คัดค้านที่ 1 ช่วยติดตามทวงหนี้จากนายชูชาติ จันทะวาลย์ อดีตที่ปรึกษาของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งนายชูชาติ ค้างชำระหนี้การก่อสร้างแก่กลุ่มกำนัน หลังจากนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 เดินทางกลับโดยมีนายบรรจง ตามไปด้วย ต่อมานายบรรจงได้มอบซองปิดผนึกส่งให้นายชัยวัฒน์ 10 ซองพร้อมพูดว่า “นาย” ซึ่งหมายถึงผู้คัดค้านที่ 1 ฝากมาให้ นายชัยวัฒน์ แจกซองให้กลุ่มกำนันปรากฏว่าในแต่ละซองมีเงินสดอยู่ 20,000 บาท หลังจากนั้นนายบรรจง ได้ชำระตั๋วเครื่องบินได้ชำระค่าตั๋วเครื่องบินให้นายชัยวัฒน์ 40,000 บาท ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 นายอดิศร นายประสิทธิ์ นายดวงแสง นายชด นายจรินทร์ นายสมบูรณ์ นายพรชาติ และนายบรรจง อ้างว่าสาเหตุที่กลุ่มกำนันเดินทางไปกรุงเทพ เนื่องจากนายชัยวัฒน์เป็นผู้ชักชวนโดยอ้างว่าเพื่อไปติดตามทวงหนี้ค่าขุดลอกคลองจากนายชูชาติ และนายชัยวัฒน์บอกว่าจะออกค่าตั๋วเครื่องบินให้ก่อน และเมื่อติดตามทวงหนี้ได้แล้วให้กำนันชดใช้คืนในภายหลัง เมื่อพบกับผู้คัดค้านที่ 1 นายชัยวัฒน์ ขอให้ผู้คัดค้านที่ 1 ทวงถามเงินจากนายชูชาติ ที่ค้างชำระแก่กลุ่มกำนัน แต่ผู้คัดค้านที่ 1 ปฏิเสธโดยบอกว่ามีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป พ.ศ.2550 ออกมาแล้ว ในการพบกันดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้พูดเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ได้ให้เงินแก่กลุ่มกำนัน และไม่ได้ช่วยค่าที่พักและค่าอาหาร นายชัยวัฒน์ เป็นผู้ดำเนินการ
ศาลเห็นว่า แม้เอกสารจาก กกต. ที่ผู้คัดค้านที่ 1 นำมากล่าวอ้างปรากฏชื่อนายชัยวัฒน์ เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองคู่แข่งกับพรรคพลังประชาชนก็ตาม แต่นายชัยวัฒน์ก็ยืนยันว่าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชาชนด้วย และคำเบิกความของนายชัยวัฒน์ เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว แม้จะแตกต่างกับกำนันคนอื่น ก็ไม่ได้มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟัง ส่วนคำเบิกความของนายชัยวัฒน์ จะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือหรือไม่เพียงใด ขึ้นอยู่กับความมีเหตุผลของคำเบิกความซึ่งศาลต้องพิจารณาประกอบกับพฤติการณ์อื่นทั้งปวงในคดี การรับฟังพยานหลักฐานหาใช่ขึ้นอยู่กับจำนวนพยานหลักฐานว่าฝ่ายใดมีมากน้อยกว่ากันไม่ สำหรับเรื่องที่กลุ่มกำนันคนอื่นๆอ้างว่าเดินทางไปพบกับผู้คัดค้านที่ 1 ตามคำชักชวนของนายชัยวัฒน์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้คัดค้านที่ 1 ช่วยติดตามทวงหนี้จากนายชูชาติ มิได้มีจุดมุ่งหมายที่จะพูดคุยเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่กลุ่มกำนันอ้าง ก็น่าจะมีการชักชวนนายอุดม กัปปะหะ กำนันตำบลท่าข้าวเปลือก ซึ่งอยู่ในอำเภอแม่จันรวมเดินทางไปทวงหนี้ในครั้งนี้ด้วย เพราะนายชูชาติ ก็ค้างชำระหนี้นายอุดมเช่นเดียวกับกำนันคนอื่นๆ การที่นายอุดม ไม่ได้ถูกชักชวนไปพบผู้คัดค้านที่ 1 ก็อาจเป็นเพราะนายอุดมเป็นพี่ชายของผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 เชียงราย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา นอกจากนี้ยังได้ความว่านายชูชาติ ค้างชำระหนี้กลุ่มกำนันตั้งแต่ปี 2548 แต่ไม่ปรากฏว่ามีเหตุผลจำเป็นเร่งด่วนประการใดให้กำนันทั้งสิบตำบลในอำเภอแม่จันต้องรีบเดินทางไปพบผู้คัดค้านที่ 1 ที่กรุงเทพเพียงเพื่อให้ช่วยติดตามทวงหนี้ในช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ยิ่งกว่านั้นภาพและเสียงที่ปรากฏตามแผ่นซีดีก็ปรากฏว่ากลุ่มกำนัน 8 คน ต่างให้การต่อ พ.ต.อ.สุวรรณ์ เอกโพธิ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลที่ทำการสอบสวนคดีด้วยความสมัครใจว่า นายบรรณจง ยางยืน นายกเทศมนตรีตำบลจันจว้า อำเภอแม่จันเป็นผู้ติดต่อประสานงานให้กลุ่มกำนันไปพบผู้คัดค้านที่ 1 และเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดและยอมรับว่านายบรรจง นำเงินมาให้กำนันคนละ 20,000 บาท โดยบอกว่าให้เอาไปเที่ยวกัน สอดคล้องกับที่นายชัยวัฒน์เบิกความ อีกทั้งนายบรรจงก็ยอมรับว่าในวันเกิดเหตุได้เดินทางไปที่โรงแรมเอสซีปาร์คซึ่งเป็นสถานที่ที่กลุ่มกำนันเดินทางไปพบกับผู้คัดค้านที่ 1 จริงเพียงแต่อ้างว่าไม่ได้พบกับผู้คัดค้านที่ 1 และไม่มีส่วนรู้เห็นในการที่กลุ่มกำนันเดินทางไปพบผู้คัดค้านที่ 1 โดยในวันดังกล่าว ตนเองพบกับกลุ่มกำนันที่สนามบินจังหวัดเชียงรายโดยบังเอิญ และเมื่อทราบว่ากลุ่มกำนันจะเดินทางไปพบกับผู้คัดค้านที่ 1 ที่กรุงเทพ จึงได้เดินทางไปพบกับผู้คัดค้านที่ 1 กับกลุ่มกำนันด้วย แม้นายบรรจง จะมีหลักฐานมาแสดงว่าในวันที่ 28 ตุลาคม 2550 ได้เดินทางไปปรึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมแต่ก็มิใช่ข้อที่ยืนยันว่านายบรรจง จะไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการเดินทางของกลุ่มกำนัน เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่านายบรรจง ร่วมเดินทางมากับกลุ่มกำนันด้วยสายการบินเที่ยวเดียวกันทั้งไปและกลับ ทั้งเดินทางไปที่ทำการพรรคพลังประชาชน โรงแรมเอสซีปาร์ค พร้อมกับกล่มุกำนัน และนอนพักที่โรงแรมเดียวกัน พฤติการณ์ของนายบรรจง จึงไม่น่าเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ และไม่น่าเชื่อว่านายบรรจง จะไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ประกอบกับได้ความจากผู้คัดค้านที่ 1 ว่า หลังเกิดเหตุรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อปี 2549 ผู้คัดค้านที่ 1 ได้เดินทางไปอยู่ที่ประเทศสหรัฐฯและกลับมาเมื่อปลายเดือนกันยายน 2550 ดังนั้น เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 – 2 จะสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในนามพรรคพลังประชาชนเขตจังหวัดเชียงราย จึงต้องมีการตระเตรียมการเลือกตั้ง ซึ่งต้องได้รับความช่วยเหลือจากคนในพื้นที่การที่กลุ่มกำนันทั้งสิบคน ไปพบผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บริหารพรรคพลังประชาชนในวันที่ 28 ตุลาคม 2550 นั้น เป็นเวลาภายหลังจากมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป พ.ศ. 2550 ใช้บังคับแล้ว จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่ากลุ่มกำนันไปตามคำเชื้อเชิญของผู้คัดค้านที่ 1 โดยมีจุดประสงค์เพื่อขอให้กลุ่มกำนันช่วยเหลือพรรคพลังประชาชนและช่วยเหลือสมาชิกพรรคพลังประชาชนซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้บริหารพรรคและช่วยเหลือสมาชิกพรรคพลังประชาชนที่จะสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดเชียงราย ซึ่งรวมถึงผู้คัดค้านที่ 2 และการที่กลุ่มกำนันไปพบผู้คัดค้านที่ 1 ก็เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชนในครั้งนี้ เชื่อได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 จะต้องมีการให้เงินแก่กลุ่มกำนันเป็นการตอบแทน พฤติการณ์แห่งคดีตามที่ได้วินิจฉัยมาดังกล่าวมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ได้ให้เงินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินแก่กลุ่มกำนันดังกล่าวเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแก่พรรคพลังประชาชนและผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดเชียงราย ตามคำร้องของผู้ร้อง และแม้ว่าจะไม่ปรากฎหลักฐานชัดแจ้งว่ากลุ่มกำนันพบกับผู้คัดค้านที่ 1 แล้วกลุ่มกำนันได้ไปเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งหรือมีพฤติการณ์ช่วยเหลือในการหาเสียงหรือลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 หรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.พรรคพลังประชาชนก็ตาม แต่การที่ผู้คัดค้านที่ 1 เรียกกลุ่มกำนันในพื้นที่ถึง 10 ตำบลไปพบเพื่อพูดคุยเรื่องการเลือกตั้งที่กรุงเทพนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมเล็งเห็นว่ากลุ่มกำนันซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นผู้นำของหมู่บ้านที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลูกบ้านสามารถใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์แก่พรรคพลังประชาชนและสมาชิกพรรคที่จะรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ในครั้งนี้โดยการชักจูงให้ลูกบ้านช่วยเหลือสนับสนุนพรรคพลังประชาชน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในวันที่ 28 ตุลาคม 2550 จึงเชื่อได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หาใช่เป็นการจัดฉากสร้างสถานการณ์เพื่อกลั่นแกล้งผู้คัดค้านที่ 1 และพรรคพลังประชาชนดังที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างไม่ ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่าการกระทำของตนไม่ต้องด้วย ม. 53 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 เนื่องจากขณะที่มีการกระทำดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 1 ยังไม่มีฐานะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.นั้นเห็นว่า ม.53 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้สมัคร หรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองอื่นใดหรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ ข้อ 1. จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด” บทบัญญัติดังกล่าวแม้จะอยู่ในส่วนที่ 6 ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งด้วยวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ก็เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งกฎหมายห้ามมิให้กระทำการต่างๆตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ส่งผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และบุคคลที่กฎหมายห้ามมีทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ที่มิใช้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้หมายความแต่เพียงว่า ผู้นั้นได้กระทำการอันฝ่าฝืนที่กฎหมายกำหนด ในขณะที่ตนเองมีฐานะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแล้วเท่านั้น แม้ในขณะที่กระทำการดังกล่าว ผู้ร้องยังไม่ได้มิประกาศสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.หรือมีประกาศสมัครรับเลือกตั้งแล้ว และผู้นั้นยังไม่ได้สมัครรับเลือกตั้งก็ตาม หากการที่กระทำไปได้กระทำภายหลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว และต่อมาผู้นั้นได้สมัครรับเลือกตั้งก็ถือได้ว่าการกระทำที่ได้กระทำไปก่อนหน้านี้ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมในที่สุดแล้ว ก็เป็นการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งนั่นเอง นอกจากนี้บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ห้ามเฉพาะผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเท่านั้น ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบสัดส่วนก็ถูกห้ามด้วย เพราะการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นแบบใดหากเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่ผู้สมัครผู้ใดผู้หนึ่ง หรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแล้วย่อมมีผลทำให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเช่นเดียวกัน ดังนั้นแม้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาก่อนที่จะมีการประกาศรับสมัครเลือกตั้งก็ตาม แต่ต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 ก็ได้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบสัดส่วนกลุ่มที่ 1 พรรคพลังประชาชน การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 จึงถือว่าเป็นการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบทบัญญัติ ม.53 ดังกล่าว คำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น ประเด็นสุดท้ายที่ศาลต้องวินิจฉัยมีว่า การเลือกตั้งในส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่ และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ เห็นว่า ในขณะที่กลุ่มกำนันไปพบผู้คัดค้านที่ 1 นั้น แม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะยังไม่ได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ตาม แต่ผู้คัดค้านที่ 1 เรียกให้กลุ่มกำนันไปพบและขอให้กลุ่มกำนันช่วยเหลือผู้คัดค้านที่ 2 เป็นการแจ้งให้กลุ่มกำนันทราบล่วงหน้าว่าผู้คัดค้านที่ 2 จะสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.และขอความช่วยเหลือดังกล่าวย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นการขอให้กลุ่มกำนันช่วยเหลือสนับสนุน เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.นั่นเอง เมื่อปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาแล้ว แม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะไม่ได้รู้เห็นเป็นใจหรือสนับสนุนให้ผู้คัดค้านที่ 1 กระทำการดังกล่าวก็ตาม แต่การการะทำของผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคพลังประชาชนและผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ในนามพรรคพลังประชาชนโดยตรง อันมีผลทำให้การเลือกตั้งในส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และแม้การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้ผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.คะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 1 มากกว่าผู้สมัครพรรคการเมืองคู่แข่งถึง 13,469 คะแนนก็ตาม แต่เมื่อการเลือกตั้งในส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเสียแล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 ก็ไม่อาจถือเอาคะแนนเสียงที่ได้รับมาเป็นข้ออ้างเพื่อมิให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ คำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 2 ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 กระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ ม.53 และการกระทำดังกล่าวมีผลทำให้การเลือกตั้ง ส.ส.ในจังหวัดเชียงรายมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามคำร้องของผู้ร้องดังที่ศาลได้วินิจฉัยมาแล้ว กรณีจึงต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านที่ 1 และให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.จังหวัดเชียงรายเขต 3 จำนวน 1 คนใหม่แทนผู้คัดค้านที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ ม.111 ศาลจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายยงยุทธ ผู้คัดค้านที่ 1 มีกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งและให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.จังหวัดเชียงราย เขต 3 ใหม่จำนวน 1 คน แทน น.ส.ละอองผู้คัดค้านที่ 2
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวบรรยากาศในการฟังคำสั่งวันนี้ว่า ก่อนที่ศาลจะอ่าน เมื่อเวลา 15.00 น. ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 100 คน ได้นำรถกระบะมาขวางประตูศาลยุติธรรม โดยมี นายวรัญชัย โชคชนะ แกนนำต่อต้านพันธมิตร เป็นแกนนำ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมต้องการให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เปิดประตูศาล โดยนายวรัญชัย เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า กลุ่มของตนนั้นต้องการเข้ามาเพื่อฟังคำตัดสินของศาลและรับฟังความถูกต้อง ซึ่งก็หวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากทางศาล ในกรณีการตัดสินนายยงยุทธ ติยะไพรัตน์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฏร ดังนั้นตนจึงอยากรียกร้องให้เปิดประตูเพื่อที่จะเข้าไปรับฟังการตัดสิน โดยตนนั้นยืนยันว่าตนไม่ได้รับเงินจากฝ่ายใด การที่ตนมานั้นหมดเงินไปเป็นแสนๆ เราต้องการเพียงความชอบธรรมเพียงเท่านั้น
ขณะที่ก่อนจะเริ่มอ่านคำสั่ง ที่อาคารศาลฏีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ได้เกิดไฟดับกะทันหัน นานกว่า 5 นาที รวมทั้งได้มีฝนตกลงมาอย่างหนัก อย่างไรก็ดีในการอ่านคำสั่งวันนี้ ศาลฏีกาจัดให้มีการถ่ายทอดเสียง ให้บุคคลนอกห้องพิจารณาคดี ได้ฟังรวมทั้งยังมีการถ่ายทอดเสียงไปยังด้านหน้าขอองศาลเพื่อให้กลุ่มต่อต้านพันธมิตรประมาณ 50 คน ร่วมรับฟังการพิจารณาคดีในวันนี้ด้วย ทั้งนี้ในห้องพิจารณาได้มีกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย ใส่เสื้อเหลือง ประมาณ 20 คนเข้าร่วมสังเกตการณ์
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาให้ใบแดงและตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปีนายยงยุทธแล้ว กลุ่มต่อต้านพันธมิตร ที่อยู่ด้านนอกศาล โห่ร้องด้วยความไม่พอใจ ในขณะที่ กลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองแสดงความพอใจเป็นอย่างมาก โดยเหตุการณ์ภายนอกศาล เริ่มตรึงเครียด ประมาณ 10 นาย เดินเข้าไปบริเวณรั้ว ซึ่งมีกลุ่ม ต่อต้านพันธมิตร อยู่นอกรั้ว พร้อมใช้โทรโข่ง ตะโกนว่า ศาล ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ช่วยกันเขย่าประตูของศาล และระหว่างที่เจ้าหน้า และผู้สื่อข่าวที่อยู่ระแวกนั้น กำลังวุ่นวาย กลุ่มต่อต้านพันธมิตร ได้โยนหินและถุงพลาสติกซึ่งภายในบรรจุน้ำสีเหลือง ซึ่งคาดว่าจะเป็นน้ำปัสสาวะ เข้ามาบริเวณนั้น ซึ่งทำให้เจ้าหน้าบริเวณนั้นต่างวิ่งหลบกันไปคนละทิศละทาง จากนั้นถุงได้ตกลงพื้นแตกกระจาย และส่งกลิ่นฉุนคล้ายกลิ่นปัสสาวะ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ขณะที่ผู้สื่อข่าวได้พยายามเข้าไปสอบถามกลุ่มต่อต้านพันธมิตร ที่หน้ารั้วศาลว่าจะมีการเคลื่อนไหวไปที่ไหนต่ออีกหรือไม่ ขณะที่นายวรัญชัย แกนนำต่อต้านพันธมิตร กำลังจะเดินมาตอบคำถามผู้สื่อข่าวสยามรัฐ ระหว่างนั้นได้มีกลุ่มผู้ชุมนายหนึ่งเดินมาทางด้านขวาของกระจิบข่าว แล้วถอดรองเท้าตบบริเวณหน้าผู้สื่อข่าวสยามรัฐ แต่ไม่โดนเนื่องจากติดประตูรั้วเหล็ก จากนั้นกลุ่มต่อต้านพันธมิตร ก็พยายามขว้างขวดน้ำพลาสติกเข้าใส่ผู้สื่อข่าวอย่างสะใจ ทำให้ผู้สื่อข่าวชายต้องผงะ แล้วถอยหลังออกไป นอกจากนี้ได้มีช่างภาพที่พยายามถ่ายภาพกลุ่มต่อต้านพันธมิตร แต่ผู้หญิงสูงวัยได้เอาร่มพยายามแทงช่างภาพผ่านช่องประตูรั้วเหล็กเข้ามา ทำให้ช่างภาพถอยหลังออกมา และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาห้ามปราม พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ ศาลได้พยายามถ่ายรูปกลุ่มที่มาสร้างความวุ่นวาย และทำการหมิ่นศาล เพื่อเป็นหลักฐาน ทั้งนี้กลุ่มม๊อบได้สลายไปในเวลา 18.30

update by : Kotchakorn Sunthikhunakorn 5131601001