ประการที่ 1 การนำนายสมัครกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก ไม่เพียงแต่จะเป็นการตบหน้าศาลรัฐธรรมนูญ และระบบตุลาการ ซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายของสังคมไทย หากแต่เป็นการปฏิเสธการมีอยู่ของจริยธรรม และหิริโอตตัปปะในการเมืองไทย มีแต่ผู้ที่ไม่ละอายต่อบาปและขาดจริยธรรมเท่านั้น ที่จะเสนอตัวบุคคลที่เพิ่งถูกศาลสูงสุดวินิจฉัยว่า ขาดจริยธรรมและไม่ตระหนักถึงความรับผิดชอบและสถานะในการปฏิบัติตนในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะเมื่อ 3 วันก่อนหน้านั้น กลับมาเป็นผู้นำประเทศอีกครั้ง เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยอย่างชัดเจนว่า นายสมัครไม่ยอมรับรู้ว่าตนเป็นบุคคลสาธารณะที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบต่อประเทศและประชาชน แต่กลับใช้ตำแหน่งไปดำเนินการรับจ้างหรือเป็นลูกจ้าง ซึ่งเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจแก่เอกชน และเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกถึงข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ พฤติการณ์เช่นนี้ในประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว จะไม่ถูกเสนอชื่อมาดำรงตำแหน่งสำคัญอีก และชีวิตทางการเมืองก็ไม่อาจดำรงอยู่ต่อไปได้
ประการที่ 2 จะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้น เพราะบุคลิกภาพและนิสัยส่วนตัวที่ก้าวร้าวรุนแรง และไม่ยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียวให้แก่ทุกๆ คน ในทุกๆ เรื่องของนายสมัคร จะทำให้ก้าวไปสู่การเผชิญหน้าเร็วขึ้น เพราะนายสมัครมีความเชื่อมาโดยตลอดว่าการดำเนินการทางการเมือง และการเผชิญหน้าที่ตนเลือกกระทำนั้น ถูกต้องมาโดยตลอด เมื่อมีโอกาสกลับเข้าดำรงตำแหน่งใหม่อีก ก็ยิ่งจะต้องสร้างผลงาน โดยการเดินหน้าฆ่ามัน ซึ่งเป็นวิถีในทางการเมืองที่นายสมัครเลือกเดินมาตลอดเกือบ 40 ปี
ประการที่ 3 เป็นการท้าทายและทำให้เกิดเงื่อนไขในการใช้กำลังทหาร ตำรวจ เข้าระงับสถานการณ์รุนแรงหรือจลาจล จากการปะทะกันของกลุ่มการเมือง ที่เผชิญหน้ากันอยู่ในขณะนี้ได้ง่ายที่สุด และหากใช้กำลังในสถานการณ์ที่ผิดพลาด หรือล้ำเส้นความพอดี จนเกิดการกล่าวหาหรือเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้นำกองทัพ สถานการณ์เช่นนี้จะผลักให้ทหารต้องเข้าควบคุม และจะนำไปสู่การรัฐประหารได้ง่าย
ประการที่ 4 จะทำให้โอกาสในการที่จะได้รับข้อเสนอแนะ และแนวทางแก้วิกฤติทางการเมือง จากองค์พระประมุขลดน้อยลง โดยหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย องค์พระประมุขมีสิทธิโดยชอบธรรมตามขนบของการปกครองและโดยสถานะตามรัฐธรรมนูญ ที่จะพระราชทานความเห็นสำหรับผู้รับผิดชอบ เพื่อให้นำไปพิจารณาหาทางแก้วิกฤติชาติ แต่หากเรามีนายกรัฐมนตรีที่มีแต่จะขอเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และเอาแต่กราบบังคมทูล โดยมิได้ขอรับพระราชทานพระราชวินิจฉัย หรือขอรับพระราชทานข้อชี้แนะสำหรับการดำเนินการของรัฐบาลแล้ว จะมีโอกาสใดอีกเล่าที่จะเปิดให้สามารถได้แนวทาง หรือคำแนะนำที่จะเป็นประโยชน์แก่การแก้วิกฤติของชาติจากองค์พระประมุขได้
ประการที่ 5 การเมืองไทยจะสุ่มเสี่ยงต่อความผิดพลาด การเกิดความรุนแรง และเพิ่มความเสี่ยงในการทำลายระบบการเมืองลงได้ง่าย เพราะนายสมัครมีบุคลิกภาพที่รุนแรง ไม่ประนีประนอม และไม่รับฟังความเห็นที่ไม่ตรงใจตัว ลักษณะของผู้นำการเมืองเช่นนี้ เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ประเทศชาติกำลังเผชิญกับภัยคุกคามหรือปัญหาจากภายนอก แต่ในสถานการณ์แตกแยก ขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายจากปัญหาทางการเมืองภายในนั้น บุคลิกภาพของนายสมัครจะยิ่งทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น เสมือนกับการสาดน้ำมันเข้าสู่กองไฟ ทำให้ความแตกแยกลุกลามใหญ่โตยิ่งขึ้น จนอาจเผาผลาญความเป็นชาติบ้านเมืองที่สั่งสมมานานลงได้ในคราวนี้
ประการที่ 6 จะยิ่งเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมสัญญาณที่ผิดพลาดในทางจริยธรรมและศีลธรรม ที่สังคมไทยได้รับมาตลอด 7 เดือนเศษ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จนอาจทำให้ค่านิยม คุณค่า และความเชื่อที่เป็นเรื่องผิดพลาดอย่างร้ายแรง กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งเยาวชนและคนในสังคมอาจยึดถือแบบอย่างที่ผิดพลาดเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการพูดจาไม่อยู่ในร่องในรอย การพูดจาโกหก การใช้ถ้อยคำหยาบคาย หรือการใช้กิริยาเกรี้ยวกราด และบริภาษสื่อมวลชน เรื่องต่างๆ เหล่านี้อาจเป็นพฤติกรรมปกติ
ประการที่ 7 จะทำให้คนไทยมีความทุกข์ใจมากขึ้น ไม่ว่าคนไทยเหล่านั้นจะมีความเชื่อ และความชอบทางการเมืองอย่างไร สนับสนุนฝ่ายใด หากต้องยอมรับว่า ลีลาและท่าทีตลอดทั้งยุทธวิธีทางการเมืองที่นายสมัครเลือกใช้ เลือกพูด เป็นเรื่องที่ทำให้คนไทยที่อยู่กลางๆ ไม่เข้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องใจหายและเฝ้าติดตามด้วยใจระทึก และคอยภาวนามิให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงอยู่เรื่อยๆ เพราะท่าทีที่พร้อมปะทะ ไม่ประนีประนอม ไม่เจรจา และไม่ถอยแม้แต่ก้าวเดียวกับแนวทางที่เชื่อว่า เรื่องที่ตนในฐานะนายกรัฐมนตรีตัดสินใจไปแล้วเป็นเรื่องที่ถูกต้องทั้งหมด ทำให้ความตึงเครียดในหมู่คนไทยที่ติดตามข่าวสาร เพิ่มดีกรีสูงมากขึ้นอยู่โดยตลอด ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ที่สนับสนุนฝ่ายใด การกลับมาของนายสมัครจะทำให้คนไทยมีความตึงเครียด อึดอัด และมีความทุกข์ใจในชีวิตมากไปกว่าเดิม หลังจากที่เคยมีความสุขช่วงสั้นๆ มาแล้วภายหลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา
ส่วนเหตุผลทางสังคมทั้ง7 ประการนี้ พรรคร่วมรัฐบาลเดิมและพรรคพลังประชาชน ควรจะได้นำไปคิดวิเคราะห์และไตร่ตรองโดยรอบคอบ เพราะในพรรคเหล่านี้ยังคงมีสมาชิกผู้มีอาวุโส ที่มีความรู้ความสามารถ สุขุมรอบคอบ เป็นที่ยอมรับของสังคม และไม่มีท่าทียโสโอหัง ก้าวร้าวรุนแรง ทั้งในระดับรองนายกรัฐมนตรีและรองหัวหน้าพรรค ถ้าหากเลือกให้ดีและชี้คนให้ถูก โอกาสที่พรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลเดิมจะครองประเทศ ครองใจประชาชนส่วนใหญ่ และยึดครองอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินต่อไปอีกยาวนานก็มีอยู่เป็นอย่างมาก
โพสต์โดย: นางสาวภัทราสิยากร ณ นคร ID: 5131601005
1 ความคิดเห็น:
อย่าทำให้ประเทศต้องนองเลือดเลย
แค่นี้ก็ย่ำแย่พอแล้ว ไม่เข้าใจว่าทำไมต้อง ดัน ให้สมัคร
เป็น นายกอีกครั้ง ทั้งๆที่ก็รู้ว่าถ้าทำอย่างนั้นจะต้องมี
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และฝ่ายที่เห็นด้วย ทางที่ดีทั้งสอง
ฝ่ายควรที่จะหันหน้าเข้าหากันและพูดคุยกันด้วยเหตุผล
ให้ดีเสียก่อน ว่าจะเอาอย่างไรกับการเมืองไทย ซึ้งทั้ง
สองฝ่ายควรที่จะเข้าใจกัน เราเป็นคนไทยเหมือนกัน
เป็นสยามเมืองยิ้ม เราต้องสามัคคีกัน และทำทุกอย่าง
เพื่อประเทศนะ ประเทศชาติ คือสิ่งที่สำคัญที่สุดนะ
Chalinee aemon
ID5131601043 Sec 1
แสดงความคิดเห็น