ตั้งกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน "อนุพงษ์" นั่งผู้อำนวยการ นายกฯ ยันคุมม็อบได้พร้อมถอน พ.ร.ก. "สมัคร" เรียกประชุม ครม.นัดพิเศษ ออกประกาศ 2 ฉบับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้ง กอฉ.เข้าทำหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ พร้อมยึดอำนาจคืนจาก 20 กระทรวงมาไว้ที่ตัวเอง รวมทั้งการเคลื่อนย้ายกำลังกองทัพ ด้านแม่ทัพภาคที่ 1 ชี้ตั้ง กอฉ.เพื่อความรอบคอบ ผบ.ทบ.เตรียมแจงการใช้ พ.ร.ก.วันนี้ ครม.มีมติทำประชามติให้ประชาชนตัดสินแก้ปัญหาประเทศ กกต.ชี้ส่อขัด รธน. ส.ว.-ฝ่ายค้านอัดซื้อเวลา ภายหลังจากนายกรัฐมนตรี ออกรายการพิเศษของสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อเวลา 07.30 น. วานนี้ (4 ก.ย.) โดยยืนยันไม่ลาออกและไม่ยุบสภา ต่อมาเวลา 10.30 น. ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ที่กองบัญชาการกองทัพไทย ถนนแจ้งวัฒนะ โดยครม.มีมติออกประกาศเพิ่มอีก 2 ฉบับ ตามที่นายกฯประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขต กทม. เมื่อวันที่ 2 ก.ย. โดยดึงอำนาจการเคลื่อนกำลังทหารมาไว้ที่นายกรัฐมนตรี หลังจากที่ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะทำงานแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ใช้กำลังสลายกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ยึดทำเนียบรัฐบาลและใช้แนวทางเจรจา พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการ ครม. นัดพิเศษ ว่า สำนักนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องออกประกาศอีก 2 ฉบับ จึงมีความจำเป็นต้องเรียกประชุม ครม.ให้รับทราบและเห็นชอบตามประกาศนี้ภายใน 3 วัน ประกาศฉบับแรก คือ การจัดตั้งกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ กอฉ. ให้นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งจัดตั้ง กอฉ. ประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้อำนวยการ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นรองผู้อำนวยการ แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นรองผู้อำนวยการ ส่วนกรรมการและเลขานุการ รวมทั้งสิ้น 19 ตำแหน่ง ประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โดยมีผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ เป็นกรรมการและเลขานุการ เสนาธิการกองทัพภาคที่ 1 เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่เป็นหน่วยงานพิเศษปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนประกาศอีกฉบับหนึ่ง เป็นการกำหนดอำนาจหน้าที่ของ ครม.ตามกฎหมาย เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ภายหลังมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขต กทม. โดยให้รัฐมนตรี และ ครม.มอบอำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวง โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตอนุมัติสั่งการ ตามบังคับบัญชาหรือแก้ไขป้องกัน ปราบปราม ระงับยับยั้ง สถานการณ์ฉุกเฉิน หรือช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในท้องที่ที่ประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยจะมีกฎหมาย 20 ฉบับที่อยู่ในอำนาจ ทั้งนี้กฎหมาย 20 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหม , พ.ร.บ.คนต่างด้าว, พ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ,พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ร.บ.ควบคุมโภคภัณฑ์ , พ.ร.บ.ป้องกันอุบัติภัยฝ่ายพลเรือน, พ.ร.บ.อาวุธปืนเครื่องกระสุน และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืน,พ.ร.บ.การจราจร, พ.ร.บ.โฆษณา, พ.ร.บ.วัตถุอันตราย,กฎหมายแพ่งและพาณิชย์บังคับเฉพาะมูลนิธิและสมาคม และกฎหมายวิอาญา ว่าด้วยการใช้อำนาจในการสืบสวนสอบสวนและข้อบังคับกลาโหมว่าด้วยการใช้กำลังทหาร และการเคลื่อนย้ายกำลังทหาร ให้มีผลวันที่ 4 ก.ย.2551 ทั้งนี้ประกาศที่ครม.นัดพิเศษ มีมติให้ออกตาม พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพิ่มเติมอีก 2 ฉบับนั้น ฉบับแรกที่ให้แต่งตั้งกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (กอฉ.) นั้น เป็นไปตามความในมาตรา 7 วรรค 5 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ระบุว่า "ในกรณีที่มีความจำเป็น คณะรัฐมนตรีอาจให้มีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเป็นการเฉพาะเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้เป็นการชั่วคราวได้ จนกว่าจะยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน" ส่วนประกาศฉบับที่ 2 ที่ให้โอนอำนาจของ ครม.ตามกฎหมาย เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นไปตามความในมาตรา 7 วรรค 1 ของ พ.ร.ก.ฉบับเดียวกัน ที่ระบุว่า "ในเขตท้องที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามมาตรา 5 ให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งหรือหลายกระทรวง หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมายใดก็ตาม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับ บัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว เพื่อให้การสั่งการและการแก้ไขสถานการณ์เป็นไปโดยมีเอกภาพ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ"
โพสต์โดย: นางสาวภัทราสิยากร ณ นคร ID: 5131601005
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น