วันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2551

'นิด้า' จี้ 'สมัคร' มี 2 ทางเลือก

วันนี้(2 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ว่า ภายหลังการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีนิด้า ได้เรียกประชุมคณะผู้บริหารสถาบันฯ เป็นการด่วนเพื่อหารือถึงสถานการณ์ของบ้านเมือง และได้ออกแถลงการณ์ของสถานบันฉบับที่ 1 ต่อวิกฤติการเมือง ว่า จากเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่ม นปช.กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และเป็นเหตุให้รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมอบหมายให้ ผบ.ทบ.เป็นหัวหน้าผู้รับชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ทางสถานบันขอแสดงความเสียใจและความสูญเสียที่เกิดขึ้น ทางสถาบันขอเสนอแนะ 3 ประการ คือ 1. ขอให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในแนวทางสันติวิธีอย่างเคร่งครัด ไม่ยั่วยุ ก่อกวนที่จะนำไปสู่การปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุม หรือก่อให้เกิดความรุนแรงในประเทศมากยิ่งขึ้น 2. วิกฤติการณ์ครั้งนี้เป็นวิกฤติการทางการเมือง การใช้มาตรการทางกฎหมายไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และอาจเป็นการสร้างเงื่อนไข ที่จะนำไปสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้น จนยากที่จะควบคุมได้ อันจะสร้างความเสียหายแก่ประเทศอย่างใหญ่หลวง และ 3.การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลปัดภาระความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และใช้ทหารเป็นเครื่องมือ ทางสถาบันขอให้ ผบ.ทบ.พิจารณาไตร่ตรองตัดสินใจ และกระทำการใดๆ อย่างรอบคอบ โดยหลีกเลี่ยง การตกเป็นเครื่องมือ ของฝ่ายการเมือง ซึ่งอาจนำความเสียหายมาสู่กองทัพแห่งชาติได้ สถาบันจะติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และจะแถลงให้สาธารณให้ทราบถึงจุดยืนของสถาบันเป็นระยะต่อไป ทั้งนี้ นายสมบัติ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การเลือกใช้วิธีการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯของนายกฯนั้นไม่ได้ผล และไม่เคยได้ผลมาทั่วโลก เมื่อเกิดวิกฤติของบ้านเมืองนั้นๆ ขณะนี้รัฐบาลกำลังใช้กองทัพเป็นเครื่องมือที่จะรักษาสถานภาพของตนเองต่อไป ซึ่งตนมองว่าจะล่อแหลมต่อบ้านเมืองมาก หากกองทัพใช้อำนาจตามกฎหมายที่ พ.ร.ก.นี้ระบุไว้ เข้าสลายการชุมนุม จะเกิดความรุนแรงถึงขั้นกลียุคและถ้ากองทัพไม่ทำ ผู้นำกองทัพก็จะกลายเป็นผู้นำที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนั้นการใช้วิธีทางกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลก็รู้ดีว่ากฎหมายให้ความคุ้มครองทั้งผู้ร้องคือโจทก์ และผู้ถูกร้องคือจำเลย และจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ถ้าเลือกทางสลายม็อบ ความเสียหายจะเกินกว่าที่คาดคิด ทำเพียงเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองเพียงไม่กี่คน เมื่อถามว่า สถาบันเห็นว่าควรลาออกหรือยุบสภาคือหนทางในการแก้วิกฤติหรือไม่ นายสมบัติ กล่าวว่า ไม่มีทางเลือกอื่น ในทางการเมืองภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ ทางแก้วิกฤติการเมืองด้วยวิถีทางกการเมืองมีอยู่ 2 ทางคือ นายกฯต้องยุบสภาหรือลาออก ส่วนแนวคิดรัฐบาลแห่งชาตินั้น ถ้าเป็นไปในแนวทางกรอบของรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากคิดว่าจะยกเว้นการบังคับใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราก็ต้องมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญต้องมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยรัฐาธิปัตย์ 'ประเทศไทยวันนี้เหมือนถูกจับเป็นตัวประกันระหว่างรัฐบาลกับพันธมิตรฯ ซึ่งจะนำความสูญเสียให้กับประเทศและระบอบประชาธิปไตย ขณะที่นายกฯไทยเลือกการแก้วิกฤติด้วยวิธีทางกฎหมาย หากหันไปมองประเทศญี่ปุ่น เพียงรัฐบาลมีนโยบายไม่ถูกใจประชาชน เขาไม่ต้องถามประชาชน แต่นายกฯตัดสินใจแถลงลาออกทันที แล้วจะต้องถามนายกฯไทยว่าจะให้คนไม่พอใจมากเท่าไหร่ ถึงจะรับฟัง' นายสมบัติ กล่าว นายสมบัติ ยังกล่าวถึงมติเอกฉันท์ของ กกต.ที่ให้ยุบพรรคพลังประชาชน ว่า จะยิ่งทำให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรมมากขึ้น เพราะพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลไม่มีความชอบธรรมตามกฎหมาย จึงเป็นเหตุเป็นผลที่จะถูกมองว่าไม่มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศต่อไปแล้ว
โพสต์โดย: นางสาวภัทราสิยากร ณ นคร ID: 5131601005

ไม่มีความคิดเห็น: