เติ้ง บอกกลัวอายุสั้นไม่รับตำแหน่ง สะพัด ปชป.ขออดีต บิ๊กคมช. ล็อบบี้พรรคเล็กเปลี่ยนขั้ว ด้าน พปช.ปล่อยข่าวฝ่ายค้านจ่ายหัวละ 30 ล้าน ซื้อเสียง ส.ส.พปช.หนุน อภิสิทธิ์ นั่งนายกฯ นักวิชาการแนะ สมัคร อย่ากลับมาดีกว่า เตือนพรรร่วมคิดให้ดี พผ. แทงกั๊กดูท่าทีพรรคอื่นก่อน
ความเคลื่อนไหวและท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรค หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายสมัคร สุนทรเวช ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกฯ แล้ว
เมื่อเวลา 15.30 น. เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่พรรคชาติไทย นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวภายหลังการประชุมพรรคกว่า 3 ชั่วโมงถึงกรณีมีกระแสข่าวถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายสมัคร ว่า ให้อยู่อย่างนี้ดีกว่า กลัวอายุจะสั้น ไม่ขอรับตำแหน่งดีกว่า เหตุการณ์แบบนี้รับไม่ไหว ตนคงทนแรงเสียดทานไม่ได้ เพราะมีความอดทนไม่พอ คงทนไม่ได้
"อย่าเอาเรื่องมาให้ผมหน่อยเลยน่า ผมอายุ 70 กว่าแล้ว อยากอยู่สบายๆ ทางออกบ้านเมืองขณะนี้ดูจะริบหรี่ ผมไม่ขอออกความคิดเห็น หากให้ความเห็นอะไรไปเดี๋ยวแกนนำพันธมิตรอาจติติงได้" นายบรรหาร กล่าว
เมื่อถามว่า พรรค พปช.มีมติให้นายสมัครกลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯอีกครั้ง นายบรรหารกล่าวว่า ยังไม่รู้ เอาไว้ถึงตอนนั้นค่อยว่ากัน คงต้องรอดูสถานการณ์ไปก่อน เพราะเหตุการณ์มันแย่แล้ว
ชท.กั๊กหนุน สมัคร ขอตั้งสติก่อน
รายงานข่าวจากพรรคชาติไทยแจ้งว่า ในที่ประชุมพรรค นายบรรหารกล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าว ส.ส.พรรคพลังประชาชนจะโหวตให้นายสมัครกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง "ก็ต้องปล่อยให้เขาทำกันไป เพราะเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมาก แต่เราคงต้องเสนอให้พรรคพลังประชาชนเสนอบุคคลที่เหมาะสมกว่านี้มาเป็นนายกฯ"
จากนั้น ส.ส.พรรคอภิปรายเพื่อสนับสนุนให้นายบรรหารเป็นนายกฯอีกครั้ง เพราะมองว่าโอกาสนี้เป็นจังหวะดีที่จะกลับมาบริหารบ้านเมืองอีกครั้ง แต่นายบรรหารกล่าวกับลูกพรรคว่า "สถานการณ์การเมืองแบบนี้ใครมาเป็นนายกฯ ก็ลำบาก" แหล่งข่าวอ้างคำพูดนายบรรหาร
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า "ตอนนี้อย่าพูดว่าสนับสนุนนายสมัครเลย ในพรรคต้องหารือร่วมกันก่อน พรรคไหนที่มีเสียงข้างมาก ต้องให้โอกาสเขา แต่ถ้าพรรคเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็ให้พรรคอันดับถัดไปจัดตั้ง แต่เวลานี้ดีที่สุดคือให้ทุกฝ่ายตั้งสติก่อน"
ทั้งนี้ พรรคชาติไทยจะนัดหารือกันอีกครั้งในวันที่ 11 กันยายน
พผ.ก็ขอดูท่าทีพรรคอื่นก่อน
วันเดียวกันนี้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน (พผ.) นัดกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.พรรคประชุมเพื่อกำหนดจุดยืนทางการเมือง ณ ที่ทำการพรรค ถนนวิทยุ โดยที่ประชุมมี ส.ส.อีสานคนหนึ่งเสนอให้ พผ.ชิงถอนตัวจากการร่วมพรรครัฐบาลเพื่อแสดงให้ถึงความฮีโร่และยึดมั่นกระบวนการยุติธรรมของไทย ขณะที่นายสมัครไม่มีอำนาจยุบสภา อย่างไรก็ตาม ส.ส.ส่วนใหญ่เห็นว่าควรเป็นพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป เนื่องจากพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา (รช.) และมัชฌิมาธิปไตย (มฌ.) ตกลงกับแกนนำพรรค พปช.ว่าจะสนับสนุนนายสมัครต่อไป ถ้าพรรค พปช. รวมกับ 2 พรรคดังกล่าว เสียงในสภาก็เกินกึ่งหนึ่งแล้ว จึงไม่มีประโยชน์ที่จะถอนตัว ท้ายที่สุดนายสุวิทย์จึงเรียกนายไชยยศ จิรเมธากร โฆษกพรรค พผ. ไปตกลงไปการส่วนตัวเพื่อแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่าจุดยื่นของพรรค พผ.ออกมาแบบกลางๆ
ด้านนายไชยยศแถลงที่พรรคว่า พผ.จะยังไม่ขอแสดงจุดยื่นใดๆ ในขณะนี้ แต่ขอรอดูท่าทีจากทุกพรรคการเมืองก่อน และมีมติมอบอำนาจกลับไปให้นายสุวิทย์เป็นผู้ประสานงานของพรรค
สุเทพ ชวนทุกพรรคร่วมมือกัน
ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค ปชป. กล่าวว่า หากพรรค พปช.ยังดึงดันที่จะโหวตให้นายสมัครกลับมาเป็นนายกฯอีก ปัญหาบ้านเมืองก็คงคลี่คลายไม่ได้ และไม่สวยงาม เพราะการที่ศาลไม่รับฟังคำชี้แจงของนายสมัคร เพราะขัดกับข้อเท็จจริง แสดงถึงความไม่น่าเชื่อถือ การจะมาเป็นนายกฯอีกครั้งคงไม่สวยงาม
"จึงอยากจะใช้จังหวะนี้ชักชวนทุกพรรคการเมืองมาปรึกษาหารือและร่วมมือกัน ก่อนหน้านี้ ประธานวุฒิสภา ประธานสภา และตัวแทนพรรคมาประชุมกัน และเห็นว่านายสมัครควรลาออกหรือยุบสภา แต่เมื่อนายสมัครพ้นจากนายกฯแล้ว ควรจะดำเนินการต่อไปให้ถูกต้อง โดยเลือกคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม สามารถมาแก้ปัญหาวิกฤตบ้านเมืองได้" นายสุเทพกล่าว และว่า ส่วนจะมีการเปลี่ยนขั้วการเมืองหรือไม่นั้น พวกตนเป็นฝ่ายเสียงน้อย คงไม่ไปเรียกร้องอะไร แต่พร้อมร่วมมือกับทุกพรรค เพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย
ปชป.เบรกรีบเลือกนายกฯให้รอ25ก.ย.
เมื่อเวลา 14.00 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีการประชุม ส.ส.ปชป. และมีการชมการถ่ายทอดสดการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผ่านทางจอโปรเจ็คเตอร์ในห้องประชุม ทันทีที่ศาลวินิจฉัยว่านายสมัครขาดคุณสมบัติ ปรากฏว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์บางส่วนปรบมือ ต่อมานายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการที่ปรึกษาพรรค ปชป. แถลงว่า ที่ประชุมกังวลท่าทีพรรค พปช.ที่เร่งรัดสรรหานายกฯใหม่ในสัปดาห์นี้ ควรเปิดโอกาสให้ ส.ส.ตั้งหลักระยะหนึ่ง อีกทั้งนายกฯพ้นตำแหน่งเฉพาะตัว คณะรัฐมนตรียังสามารถทำงานต่อไปได้ จนกว่าจะมีนายกฯใหม่ การแต่งตั้งนายกฯ ช้าไป 3-4 วันน่าจะรอกันได้
นายบัญญัติกล่าวว่า นอกจากนี้วันที่ 25 กันยายน ศาลอุทธรณ์จะอ่านคำพิพากษานายสมัคร ในคดีหมิ่นประมาทนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. หากพรรคร่วมรัฐบาลจะสนับสนุนให้นายสมัคร กลับมาอีกครั้ง แต่ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นก็จะขาดคุณสมบัติอีกครั้ง และต้องเลือกนายกฯอีกครั้งหรือไม่
"ดังนั้น การรวบรัดตัดความเลือกนายกฯ ในเวลาที่สั้นเกินไปตั้งหลักไม่ทันก็ไม่น่าจะเป็นประโยชน์ หากเลือกคนที่สังคมยอมรับได้ก็จะเป็นก้าวแรกที่ลดความขัดแย้งในบ้านเมืองให้น้อยลง" นายบัญญัติกล่าว
พปช.จับมือ บิ๊ก คมช. ล็อบบี้พรรคเล็ก
แหล่งข่าวจากพรรคพลังประชาชาอ้างว่า ขณะนี้แกนนำพรรคประชาธิปัตย์มีการต่อสายกับนายทหารระดับสูงซึ่งเป็นอดีตคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ให้ช่วยต่อรองพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนขั้วมาจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าหากพรรคพลังประชาชนยังเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล และหากนายสมัครกลับมาเป็นนายกฯอีก สถานการณ์ความข้ดแย้งในสังคมคงไม่ยุติ และกลุ่มพันธมิตรคงไม่ยุติการชุมนุม คาดว่าจะมีการพูดคุยกันอย่างจริงจังในช่วงค่ำของวันเดียวกันนี้
พปช.อ้าง ปชป. แซะส.ส.ในพรรค
ขณะที่รายงานข่าวจากพรรค พปช. แจ้งว่า ขณะนี้มีความพยายามจากคนใกล้ชิดแกนนำสำคัญของพรรค ปชป. ที่เจรจาขอเสียงจาก ส.ส.พรรค พปช. เพื่อลงมติสนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป.เป็นนายกฯคนต่อไป โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ ซึ่งพรรค ปชป.ต้องการเสียงจากส.ส.พปช.ประมาณ 25-30 เสียง โดยมีการติดต่อ ส.ส.กลุ่มขุนค้อน และ ส.ส.กลุ่มอีสานพัฒนา ทั้งนี้ หากมีการตอบรับ มีการพูดถึงเงิน 30 ล้านบาท รวมถึงจะมอบตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย อย่างไรก็ตาม ส.ส. 2 กลุ่ม ยังไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะตอบรับหรือปฏิเสธ แต่ขอรอดูสถานการณ์และปฏิกิริยาบรรดาแกนนำของกลุ่มอีกระยะหนึ่งก่อน
นักวิชาการให้พรรคร่วมคิดรอบคอบ
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อเส้นทางที่เคยตีบตันเปิดประตูออกมาแล้ว ก็เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องคิดให้รอบคอบว่าจะทำอย่างไร พรรคร่วมรัฐบาลต้องคิดให้ดีว่าจะให้นายสมัครกลับเข้ามารับตำแหน่งอีกหรือไม่ เชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะมีการต่อรองกันอย่างสูงจนกว่าจะถึงวันโหวตนายกฯ
"ถ้ายังเป็นนายสมัคร หรือคนของพรรคพลังประชาชนเป็นนายกฯอีก สถานการณ์การเมืองก็คงไม่แตกต่างอะไรจากตอนนี้ จะทำให้ทางออกตีบตัน กระแสต่อต้านก็ยังคงมีอยู่อีก" นายปริญญากล่าว และว่า เชื่อว่านายบรรหารจะมีโอกาสมากที่สุด
ด้านนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าหากนายบรรหารเป็นนายกฯสถานการณ์น่าจะดีขึ้น เพราะถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงตามที่หลายคนต้องการ ส่วนที่นักวิชาการเสนอว่า หากบ้านเมืองถึงทางตัน ให้ยกเว้นรัฐธรรมนูญบางมาตราเพื่อให้คนนอกมาเป็นนายกฯนั้น เป็นไปได้ยากมากๆ ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของสภาก็ดีอยู่แล้ว อย่าไปคิดทางอื่นเลย
บวรศักดิ์ ชี้ สมัคร ไม่ควรกลับมา
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า จากนี้ไปสภาผู้แทนราษฎร ต้องให้ความเห็นชอบนายกฯคนใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นายกฯพ้นจากตำแหน่ง เมื่อถามว่า นายสมัคร จะกลับมาเป็นนายกฯต่อได้หรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ถ้าดูแต่ตัวบทกฎหมายก็ได้ แต่ถ้าดูเรื่องจริยธรรมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากเป็นตนจะไม่กลับมาอีก เพราะอธิบายให้โลกทั้งโลกฟังไม่ได้ว่า นายกฯกระทำการขัดในเรื่องประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม เพราะคำวินิจฉัยบางส่วนระบุว่า เชื่อได้ว่า มีการทำพยานหลักฐานขึ้นใหม่ จึงเป็นเรื่องจริยธรรมที่ลึกซึ้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความคำว่าลูกจ้างจนมีผลออกมาดังกล่าว นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญตีความกว้างไกลกว่าในรัฐธรรมนูญ การวินิจฉัยคำว่าลูกจ้าง ถ้าความเข้าใจทั่วไปของคนเรียนกฎหมาย จะเป็นไปตามสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่ง ในกฎหมายแรงงาน แต่ศาลรัฐธรรมนูญตีความกว้างกว่าโดยยึดตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้ใช้ตำแหน่งหน้าที่มาเอื้อประโยชน์ส่วนตัว การตีความแบบนี้ ไม่เสียหาย และเป็นเรื่องดี นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา 181 เขียนไม่ชัดว่า เมื่อ ครม.พ้นจากตำแหน่ง ให้รักษาการจนกว่าจะมี ครม.ใหม่มา ศาลรัฐธรรมนูญก็ให้ความชัดเจนว่า รัฐมนตรีคนอื่นๆ รักษาการได้ ยกเว้นนายกฯ ถือเป็นมิติใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ
นิด้า ให้5พรรคร่วมจับมือปชป.
ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เครือข่ายคณาจารย์ สมาคมพัฒนาสังคม นักศึกษา และภาคีวิชาการ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกันออกแถลงการณ์ ทางออกวิกฤตชาติ โดยระบุว่า จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9-0 ให้นายสมัคร ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี ขอเสนอดังนี้
1.ขอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่เลือกนายสมัคร เป็นนายกฯ เนื่องด้วยนายสมัคร ขาดความชอบธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้สังคมไทยหลีกเลี่ยงความรุนแรงหากนายสมัคร ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯอีกครั้ง
2.ขอให้พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 5 พรรค ร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อบรรเทาปัญหาความขัดแย้งและเตรียมการปฏิรูปทางการเมือง
3.ขอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนภาคประชาชนจากทุกภาคส่วนดำเนินการศึกษารูปแบบการปกครองที่เหมาะสม
4.ขอให้ประชาชน นักวิชาการ นักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร และกลุ่มอาชีพอื่นๆ เข้ามีส่วนร่วมการปฏิรูปการเมือง ทุกขั้นตอน เพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเต็มรูปแบบและยั่งยืนสืบไป
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สว.สรรหา ในฐานะผู้ร้องที่ 1 ในคดีดังกล่าว ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากนี้ทั้ง 7 พรรคต้องไปหารือกันเพื่อหาทางออกต่อไป ซึ่งวิกฤตก็ย่อมมีโอกาส หลังฝนตกหนักฟ้าจะใส ต่อไปนี้ก็เป็นหน้าที่ที่ต้องให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องหาทางออกกันไป หลังจากนี้ประตูข้างหน้ามาอยู่ที่สภาแล้วตามที่พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. กล่าวไว้
Tag (ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง): สมัคร สุนทรเวช อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคพลังประชาชน ประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาล บรรหาร ศิลปอาชา
โพลต์โดย : นางสาวกิตติยา ประสานสมบัติ ID: 5131601009
3 ความคิดเห็น:
การเมืองบ้านเราไม่สามารถที่จะล้มล้างระบบการเมืองแบบซื้อเสียงหรือการโกงกินแบบนี้ออกไปได้ซะทีประเทศของเราเลยยังไม่สามารถที่จะพัฒนาไปได้อย่างนานาประเทศเขาซักที ถ้าเรามัวแต่ที่จะมาแข่งว่าจะให้คนนั้นคนนี้เข้ามากินได้มากกว่ากัน แต่ไม่เคยที่จะมีใครเลยที่จะมาคิดดูแลประเทศอย่างจริงจังไหนเลยจะมีใครเหลี่ยวแลบ้านเมืองของเราเท่ากับตัวของเราเอง
การให้นายสมัครหลับมาหรือไม่นั้นเราควรคิดกันใดเสียก่อนว่า ถ้าการที่เค้ากลับมาแล้ว พวกเค้าจะทำให้บ้านเมืองดีขึ้นหรือเปล่าหรือว่าจะยังเป็นอยู่เหมือนๆเดิม ถ้าในเมื่อยังเหมือนเดิมอยู่เราก็น่าจะให้โอกาสพรรคใหม่ๆมารับใช้ประเทศชาติเสียบ้าง ไม่ใช่เลือกพรรคการเมืองกลุ่มเดียวมาทำงาน พอทำงานไม่ดีหน่อยก็มาประท้วงว่าไม่ดีอย่างโน้นไม่ดีอย่างนี้ เมื่อพวกเราไปประทัวงกันบ้านเมืองก็มีแต่จะเสียหาย ต่างประเทศเค้าก็มองว่าเราเป็นประเทศที่ยังด้อยพัฒนา แล้วจะมีประเทศไหนมาลงทุนที่ประเทศเราล่ะ มันก็จะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำเอาเปล่าๆ ทำไมเราไม่เสนอรายชื่อถอดถอนรัฐมนตรีเอาล่ะไม่ต้องไปประท้วงให้เกิดความรุนแรงอะไรหรอก
การที่พรรคอะไรมาบริหารประเทศนั้น ทุกๆพรรคก็ทุตริตกันทั้งนั้นแหละแต่ขึ้นอยู่กับว่าพวกเค้าจะโกงมากหรือน้อย แล้วจะทำประโยชน์ให้กับประเทศได้มากเท่าไร ก็ขอให้เราพินิจพิจารณากันให้ดีๆว่าควรจะเลือกพรรคอะไรมาบริหารประเทศ
แสดงความคิดเห็น