วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2551

หวังอะไรกับทหารไทย?


วุฒิภาวะของพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ในการแถลงข่าวและตอบข้อซักถามสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมานี้ น่าจะทำให้สังคมไทยมีความหวังในท่ามกลางความไร้วุฒิภาวะของอีกหลายๆ ฝ่าย นอกจากในตัวคำตอบจะชัดเจน ผ่านการคิดตรึกตรองอย่างรอบคอบมาแล้ว ทำให้ไม่ว่าจะเป็นคำถามแบบไหน จากใคร วิธีตอบของนายทหารผู้นี้ฉลาดเฉลียวบอกเนื้อถ้อยกระทงความชัดเจนในความสุภาพสำรวม ที่ผู้บริหารราชการพึงมีพึงใช้กับสาธารณชน ต่อคำถามของนักข่าวที่ถามคล้ายๆ กันหรือซ้ำกัน พลเอกอนุพงษ์ได้กล่าวอย่างสุภาพหลายครั้งว่า "ผมคิดว่าได้ตอบคำถามนี้ไปแล้ว" แม้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศจะมีคำถามแรงๆ เช่นว่าการตัดสินใจของท่านหมายความว่า ท่านไม่สนับสนุนรัฐบาลเช่นนั้นหรือ พลเอกอนุพงษ์ก็ได้ตอบอย่างสุภาพ ว่า กองทัพต้องทำงานสนับสนุนรัฐบาลอยู่แล้วในขอบเขตอำนาจที่มี จะไม่ก้าวล่วงเกินไปกว่านั้น
เมื่อถึงคำถามที่ท่านไม่แน่ใจว่าจะตอบเป็นภาษาอังกฤษได้ชัดแจ้งเพียงพอ ท่านก็แนะว่าล่ามควรแปล
วิธีคิดวิธีพูดและท่วงทีในการสื่อสารกับสาธารณชนที่ได้เห็นจากนายทหารผู้นี้ช่างแตกต่างกับนายทหารระดับชั้นผู้ใหญ่หลายต่อหลายคน ที่ได้เดินทางมาถึงตำแหน่งนี้ในสถานการณ์ฉุกเฉินคล้ายๆ กันนี้ สีหน้าวาจาสายตาของ ผบ.ทบ.ผู้นี้ แสดงถึงความสำรวมมีสติ พูดอย่างมีลำดับความคิด น้ำเสียงเรียบแต่เด็ดขาด คำตอบและคำถามตลอดจนคำปรารภมีจังหวะจะโคนลงตัวอย่างงาม บรรยากาศแม้จะเคร่งขรึมเป็นทางการ แต่ก็ผ่อนคลายผู้ฟังไม่รู้สึกถูกรุกราน หรือเครียดที่เป็นฝ่ายต้องตั้งใจฟังข้างเดียวเป็นเวลาติดต่อกันนานๆ
ด้วยวุฒิภาวะสูงเช่นนี้เองเล่า สถานการณ์ล่อแหลมจึงได้ผ่านจุดวิกฤติจุดหนึ่งไปได้อย่างที่ผู้เขียนไม่ได้คิดมาก่อน ว่า จะมีโชคใหญ่ขนาดนี้ในช่วงชีวิตที่มีอยู่ที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากขนาดนี้ในระดับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของสังคมไทย นับตั้งแต่วันแรกเลยก็ว่าได้ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรอบ 76 ปีที่ผ่านมา หลังการสถาปนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กองทหารและนายทหารระดับชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากทั้งสามเหล่าทัพได้มีส่วนร่วมสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากในรอบ 76 ปีที่ทหารและตำรวจได้ใช้กำลังอาวุธเข้า "ก่อการ" หรือ "ปราบปราม" หรือ "สลาย" หรือ "รักษาความสงบเรียบร้อย" ในหลายต่อหลายครั้งนั้น แทบจะทุกครั้งเป็นการใช้อาวุธเป็นเครื่องมือ ความสูญเสียแต่ละครั้งเป็นบาดแผลลึกอยู่ในใจของผู้คนจำนวนมากมาย ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ในการรักษาสถานการณ์ตึงเครียดไม่ให้เกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนที่มาชุมนุมอย่างเป็นฝักฝ่ายในทางการเมือง ผู้บัญชาการกองทัพได้ตัดสินใจไม่ใช้กำลังทหารติดอาวุธในการปฏิบัติการรักษาความสงบ ทหารผู้ออกไปปฏิบัติการได้รับคำสั่งไม่สวมเสื้อเกราะ มีเพียงโล่และกระบอง ทั้งๆ ที่โดยหลักการ ผบ.ทบ.ได้รับมอบอำนาจเต็มมือในการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะติดอาวุธกำลังทหารหนักขนาดไหนก็ย่อมได้ยากยิ่งที่ใครจะมาคัดค้าน หรือ "ตรวจสอบ" ในภายหลัง ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำกองทัพยังได้แสดงแนวคิดที่ใช้สันติวิธีอย่างเป็นลำดับให้สาธารณชนฟัง ซึ่งถ้าหากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งชุดปัจจุบันยังฟังไม่เข้าใจ มีแต่จะเร่งรัดให้ผู้บัญชาการกองทัพลงมือปราบปรามยุติปัญหาทางการเมืองด้วยกำลังโดยเร็วและโดยเด็ดขาด รัฐบาลพลเรือนเช่นนี้นอกจากหมดความชอบธรรมใดๆ ที่จะทำหน้าที่บริหารปกครองบ้านเมือง ยังเป็นดัชนีชี้ให้เห็นถึงความล้าหลังของนักการเมือง และพรรคการเมืองที่ได้เข้ามาร่วมกันเป็นรัฐบาล น่าคิดเหลือเกินว่าในระยะเวลา 76 ปีภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในขณะที่วันนี้นายทหารชั้นผู้ใหญ่เช่นผบ.ทบ.และสถาบันทหารได้แสดงให้ประจักษ์ถึงความเปลี่ยนแปลงความเจริญเติบโตในวุฒิภาวะทางการเมืองการปกครอง สถาบันการปกครองฝ่ายพลเรือนเสียอีกต่างหากเล่า ที่ทำตนให้น่าเป็นห่วงและน่าเสียใจ โดยเฉพาะทางสถาบันรัฐสภาและพรรคการเมือง ซึ่งหากจะยังดื้อดึงไม่ยอมหยุดพิจารณาตนเอง ก็จะยิ่งทำให้สถาบันรัฐสภาและพรรคการเมืองเสื่อมลงไปเรื่อยๆ ในสายตาของทั้งภาคประชาชนและกองทัพ การที่สถาบันทหารได้เติบโตเปลี่ยนแปลงมาจนกระทั่งสามารถสร้างและฟูมฟักนายทหารระดับชั้นผู้ใหญ่ที่มีโลกทัศน์วิสัยทัศน์ดังเช่นพลเอกอนุพงษ์ให้สังคมประจักษ์ได้ ย่อมไม่ใช่ผลของระบบแต่เพียงอย่างเดียว บุคลิกส่วนบุคคลย่อมมีส่วนด้วยอย่างมาก อยากจะเห็นและโปรดได้ทำให้สังคมของเรารู้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งด้วย หากว่าในกองทัพยังมีนายทหารทั้งชั้นผู้ใหญ่และผู้น้อยผู้มีโลกทัศน์วิสัยทัศน์มีวุฒิภาวะในแนวพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา อีกแน่นอนว่า สถานการณ์ทางการเมืองการปกครองในบ้านเรา จะยังไม่ "นิ่ง" ได้ง่ายๆ หากสถาบันทหารแสดงถึงความมีวุฒิภาวะในวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งนี้ ในภายภาคหน้า สถาบันทหารก็ยังจะมีอีกหลายวิกฤตการณ์ให้พิสูจน์ตนเอง เส้นทางของสถาบันทหารในแต่ละประเทศในแต่ละสถานการณ์ก็ต่างๆ กันไป ไม่ง่ายที่จะหาตัวอย่าง อย่างมากก็ได้เพียงบทเรียน อาทิเช่น สถาบันทหารในการเปลี่ยนแปลงทางเมืองในตุรกี ในฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่ในพม่า ในหลายประเทศในทวีปแอฟริกา เป็นต้น แต่ละก้าวย่างที่สถาบันทหารจะตัดสินใจลงไปมีความหมายอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของสังคม ดังนั้น นอกจากกำลังอาวุธยุทธภัณฑ์การฝึกอาวุธการซ้อมรบการสร้างระเบียบวินัยต่างๆ ที่ปฏิบัติเป็นปกติวิสัย การเสริมสร้างธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในการบริหารจัดการกองทัพแล้ว ในด้านการศึกษาการติดอาวุธทางความคิดทางโลกทัศน์วิสัยทัศน์ ทางกองทัพไทยก็น่าจะได้ปรับปรุงให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นในทุกระดับ โดยเฉพาะการสร้างโอกาสให้นายทหารชั้นผู้น้อยได้เรียนต่อในการศึกษานอกระบบ หรือเรียนอาชีวศึกษา ดังที่ได้ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ ผนวกเข้ากับความรู้ความเข้าใจระบบการปกครองการทำงานของกลไกประชาธิปไตยต่างๆ ย่อมเป็นการสมควรอย่างยิ่ง แม้ในการจัดการศึกษาแก่นักศึกษาวิชาทหาร หรือ รด. ที่ปัจจุบันผู้หญิงก็มีโอกาสได้เข้าเรียนนั้น ก็ได้เคยมีโครงการนำร่องหาแนวทางแก้ไขปรับปรุงระบบการผลิตกำลังพล และกำลังสำรองใหม่สมควรจะนำมาพิจารณาใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อตัดสินใจจะคิดใหม่ทำใหม่ทั้งหมดหรือปฏิรูปอย่างไรก็จะได้ทันกาล ประเด็นสำคัญ ก็คือ จำต้องนำวิสัยใหม่โลกทัศน์ใหม่มาใช้ด้วย กำลังทหารทั้งประจำการและสำรองในโลกปัจจุบันมีหน้าที่ในมิติทางสังคม เพื่อความมั่นคงและเพื่อสันติภาพมากขึ้นเรื่อยๆ กองกำลังทหารไทยที่ไปร่วมในกองกำลังทหารรักษาสันติภาพในติมอร์และในอัฟกานิสถานย่อมเป็นตัวอย่างที่ดี ส่วนในด้านการศึกษาวิชาทหารหรือ เรียน ร.ด. นั้น หากจะยังเรียนยังสอนต่อไปก็อาจสมควรปฏิรูปให้มีความเข้าใจและขอบเขตการใช้กำลังอาวุธเพื่อรักษาความสงบและสันติภาพด้วย มิใช่มีแต่การฝึกเป็นกำลังสำรองในการใช้อาวุธด้านเดียว




โพสต์โดย: นางสาวชาลินี เอี่ยมโอน ID: 5131601043



ไม่มีความคิดเห็น: