
แต่ "เป็นทางเลือก "ทางแรก" ของ "หัวหน้ารัฐบาล"และพวกมาก่อนหน้านี้แล้ว " การต่อรองเริ่มขึ้นตั้งแต่วันศุกร์ ระหว่างฝ่ายรัฐบาล (ซึ่งหมายถึงนายกฯสมัครและพวก) กับฝ่ายทหาร คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นความพยายามต่อรอง ก่อนที่จะมีการเปิดเวทีรัฐสภาให้สมาชิกทั้งสองสภาฯได้อภิปรายทั่วไป เพื่อร่วมกันหาทางออก ในการแก้ปัญหาการชุมนุมไล่รัฐบาลของกลุ่มพันธมิตรฯ แต่สุดท้ายเวทีสภาฯก็ไร้ประโยชน์ เพราะกลายเป็นเวทีเปิดศึกอภิปราย สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา ปิดท้ายด้วย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ฉวยโอกาสเรียกร้องให้นายกฯสมัคร เสียสละด้วยการยุบสภา ความจริงแล้ว การเปิดเวทีรัฐสภา ต่างฝ่ายต่างก็รู้อยู่แล้วว่าหาข้อยุติไม่ได้ ในเมื่อ 5 แกนนำพันธมิตร ประกาศเมินรับเงื่อนไขใดๆ ของรัฐสภาในวันเดียวกันนั้นเอง ขณะที่ รัฐบาล โดยแกนนำในแก๊งออฟโฟร์ พรรคพลังประชาชน (พปช.) ก็ "กำหนดเกม" ของตัวเองเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยใช้โอกาสเปิดเวทีรัฐสภาเป็นการปูทาง เพื่อหาเหตุนำไปสู่การประกาศภาวะฉุกเฉิน ส.ส.อีสานหลายราย ยอมรับว่า ได้รับคำสั่งจาก 2 แกนนำแก๊งออฟโฟร์ ให้ ส.ส.ในพื้นที่ภาคอีสาน ระดมมวลชน 1 แสนคน เข้ากรุงเทพฯ ทันที โดยสั่งมาให้กำลังใจนายกฯ และรัฐบาล ที่หน้ารัฐสภาฯ ในวันเปิดอภิปรายฯ ก่อนจะเคลื่อนไปสมทบกับกลุ่ม นปก.ที่ท้องสนามหลวง และเป้าหมายที่แท้จริงคือให้ม็อบหนุนรัฐบาลกลุ่มนี้ ไปยึดทำเนียบฯ คืนจากกลุ่มพันธมิตร ขณะที่ฝ่ายพันธมิตร มีรายงานว่า 5 แกนนำ เดินเกมไล่สมัคร ไล่รัฐบาล ภายใต้การกำกับดูแลของ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ และมี พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ พร้อมทั้งหน่วยสอดแทรกที่ช่วยวางยุทธศาสตร์อย่าง พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ในฐานะที่ปรึกษาฝ่ายบู๊ ว่ากันว่า "3 บิ๊ก" ที่อยู่เบื้องหลังนี้ มีหนึ่งในนั้นแอบอ้าง "มือที่มองไม่เห็น" เพื่อเป็น"ธง"ให้พันธมิตรเอาชนะฝ่ายรัฐบาลให้ได้ ขณะเดียวกันก็ยังมีข้อน่าสงสัยหลายประการว่า แกนนำพันธมิตรและแนวร่วม "ตกเป็นเครื่องมือ" แก้แค้นทางการเมืองของใครบางคนหรือไม่ โดย "ผู้ใหญ่" ที่ถูกแอบอ้างไม่ได้มีส่วนร่วมวางแผน หรือชี้นำให้พันธมิตรเข้าไปยึดทำเนียบฯ ถาวร อย่างที่ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แอบกระซิบใครต่อใครในพรรคประชาธิปัตย์ ในที่สุด ทั้งสองฝ่ายก็เดินมาสู่จุดเผชิญหน้า อย่างที่คาดหวัง เพื่อให้รู้แพ้ รู้ชนะกันไปเลย โดยใช้เหตุการณ์รุนแรงระหว่างข้ามคืนวันจันทร์ต่อเช้าวันอังคาร บนสะพานมัฆวานรังสรรค์บีบให้กองทัพเข้ามาจัดการ โดยใช้เวลาต่อรองกันจนกระทั่งเช้าวันวานนี้ (2 ก.ย.) จนในที่สุด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ก็ต้องยอมจำนวนต่อคำสั่งแกมขอร้องของนายกฯสมัคร โดยนายกฯได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครทันที และประกาศคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ครั้งนี้ และมอบหมายให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นหัวหน้าคณะกรรมการชุดนี้ โดยมี พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ท. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นรองหัวหน้า เมื่อคณะกรรมการฯ ได้หารือแนวทาง และกรอบในการจัดการปัญหาต่อโดยทันที ทำให้กระแสทุกฝ่ายพุ่งเป้าไปยังท่าทีของ พล.อ.อนุพงษ์ ว่าจะตัดสินใจใช้มาตรการอย่างไร ในที่สุด การแถลงข่าวของ พล.อ.อนุพงษ์ ก็ชัดเจนว่า "ไม่ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" จัดการปัญหาอย่างที่ฝ่ายการเมืองต้องการ แต่ยืนยันจะใช้การเจรจา และให้ทหารทำหน้าที่เพียงแค่ค่อยกันไม่ให้ผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายปะทะกัน พร้อมทั้งโยนประเด็นปัญหาข้อเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ กลับไปให้ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลจัดการเอาเอง โดยอ้างว่าตนเองมีหน้าที่เพียงเท่านี้ พลันเสร็จสิ้นการแถลงข่าว ก็มีเสียงสะท้อนที่ไม่พอใจอย่างแรง ออกมาจากฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะแกนนำในพรรคพปช.ได้จับวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีของ พล.อ.อนุพงษ์ ที่ไม่จัดการกลุ่มพันธมิตรทันทีและเด็ดขาด แม้กระทั่งฝ่ายตำรวจ ก็ยังเห็นสอดคล้องกันว่า พล.อ.อนุพงษ์ "เมินคำสั่งนายกฯ" และลอยตัวเหนือปัญหา ซึ่งเท่ากับว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของนายกฯ ไม่มีความหมายใดๆ ในทางกลับกัน ปรากฏการณ์เช่นนี้ ทำให้แกนนำกลุ่มพันธมิตร ตีความเข้าข้างตัวเอง โดยเห็นว่าการปฏิเสธ "ใบสั่ง" สลายการชุมนุมของนายกฯ ก็หมายถึง พล.อ.อนุพงษ์ และกองทัพเลือกข้างกลุ่มพันธมิตร แรงกดดันขณะนี้ กลับไปตกที่ นายกฯสมัคร ที่ถูกแกนนำพรรคโยนบาปให้ว่า "เลือกคนผิด" และจะต้องรับผิดชอบ เพราะถือว่า "หมดสภาพผู้นำ" อย่างสิ้นเชิง หลังจากที่เดินเกมพลาดมาตลอด ปล่อยให้ลุกลาม ยึดทำเนียบฯ จนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทั้งที่นายกฯสมัคร สร้างภาพมาตลอดว่า แนบแน่นกับ พล.อ.อนุพงษ์ สถานการณ์ล่าสุด ทำให้แกนนำแก๊งออฟโฟร์ และแกนนำกลุ่ม 111 ไทยรักไทยบางส่วน ได้หันมารวมตัวกันเพื่อจัดการปัญหาทั้งหมดเอง ว่ากันว่า "แผนสอง" ที่จะจัดการกับสถานการณ์ขณะนี้คือ ระดมมวลชนจากต่างจังหวัดเข้ามาสมทบกับ นปก.เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อโยนเผือกร้อนกลับไปให้ พล.อ.อนุพงษ์ รับผิดชอบและจัดการปัญหา ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์ ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
ส่วน "แผนสุดท้าย" ที่แกนนำพรรคพปช.และกลุ่ม 111 กำลังจะเดินเกมต่อไป คือ การ "ไล่สมัคร" ออกจากนายกฯ และเปลี่ยนให้แกนนำในพรรคคนใดคนหนึ่งขึ้นมาแทน แต่ทิศทางนี้ อาจจะไม่ใช่หนทางยุติปัญหาทั้งหมดได้ เพราะตราบใดที่แกนนำรัฐบาลคือพรรคพลังประชาชน และนายกฯ คือคนของพรรค ขณะที่ในอีกมุมหนึ่ง ก็ต้องจับตาความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ ที่กำลังดิ้นรนทุกทางเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยมี สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค เป็นตัวขับเคลื่อน ต่อสายไปยังพรรคร่วมรัฐบาล และแสดงจุดยืนชัดเจนว่าเลือกข้างพันธมิตรฯ แต่อย่าประมาท "ขิงแก่" อย่างสมัครเด็ดขาด เพราะยังมีไม้เด็ด "ยุบสภา" แก้เผ็ด ทั้งพลังประชาชนและประชาธิปัตย์
โพสต์โดย: นางสาวพรรณวิภา ติคำ ID: 5131601135
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น