วันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2551

ปิดประตู ยุบสภา-ลาออก จุดชนวนสงครามกลางเมือง


จนถึงวินาทีสุดท้ายของศึกอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติระหว่างสองสภา สมัคร สุนทรเวช ก็ยังคงยืนกรานว่า ผมจะไม่ยอมแก๊งข้างถนน ผมจะไม่ลาออก ไม่ยุบสภา แต่จะรักษาระบอบประชาธิปไตยที่มีมากว่า 76 ปีไว้
ถือเป็นการปิดประตูตอกฝาโลง ปฏิเสธร่วมผ่าทางตันทางการเมืองตามข้อเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิป ไตยอย่างไม่มีเยื่อใย
ทั้งๆ ที่ฝ่ายค้าน และ ส.ว.ก็ต่างดาหน้าออกมากดดันให้ "สมัคร" ลุกขึ้นประกาศต่อหน้าสมาชิกกว่า 600 คน เพื่อรับผิดชอบทางการเมืองด้วยการลาออก
เวลากว่า 11 ชั่วโมง ในการเปิดโต๊ะเจรจาเพื่อหาทางออกในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย แม้จะใช้รูปแบบแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง แต่ท้ายสุดเนื้อหาและสาระของศึกอภิปรายกลับเป็นเพียงเวทีโต้คารมที่ทำให้เห็นว่า ใครใส่กางเกงในสีอะไร เท่านั้น
เวทีนี้จึงล้มไม่เป็นท่า เพราะสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ยังคงเล่นเกมการเมืองจนทำให้เวทีตกอยู่ในสภาพไร้จุดร่วม มีแต่จุดต่าง การเปิดสภาฉุกเฉินครั้งนี้จึงเป็นศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจพันธมิตร โดยมีพรรคฝ่ายค้าน และ ส.ส.ฝ่ายพันธมิตรเป็นจุดเกาะเกี่ยว
เจตนาที่ต้องการระดมสมองเพื่อหาทางออกร่วมกันจึงพังทลาย เพราะ "สมัคร" เองก็ยังคงเป็นสมัครคนเดิมที่ปิดหูไม่ยอมรับฟัง ซ้ำยังเล่นบทนักการเมืองโบราณตีโต้ตอกกลับข้อเสนอทุกประเด็นอย่างไม่ลดราวาศอก
ท้ายสุด-สุดท้าย คนที่ขอเปิดสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 จึงเป็นคนปิดประตูทะลุมิติเพื่อหาทางออกเสียเอง
แม้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเสนอทางออกแบบยอมเสียเปรียบว่า วันนี้เราต้องยอมเจ็บ เพราะการยุบสภาจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบอย่างหนึ่งและสภาก็จะรับผิดชอบร่วมกัน แนวทางนี้พวกผมก็เสียเปรียบทุกเรื่อง แต่เราต้องยอมเพื่อบ้านเมือง
ทว่าก็ไร้เสียงตอบรับจากปลายทาง ถ้อย คำอันแข็งกร้าวและท่าทีอันแข็งขืนของ นายกฯที่ชื่อ "สมัคร" ยิ่งทำให้สถานการณ์การเมืองดิ่งลึกลงสู่หุบเหวและตกอยู่ในภาวะไร้ทางออกมากขึ้น เพราะดูท่าทีของพันธมิตร ที่ปักหลักชุมนุมครบ 100 วัน จะไม่ยอมหัก แต่ยังคงเดินหน้าอาศัยหลัก "ประชาภิวัตน์" กระทุ้งให้มีการเมืองใหม่อยู่ทุกขณะจิต
โดยเฉพาะการประกาศใช้มาตรการตัดน้ำ-ตัดไฟ การปิดเส้นทางการคมนาคมอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ยิ่งจะทำให้บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะรัฐที่ไร้ระเบียบ ทำให้ยากต่อการปกครอง
ยิ่งตอนนี้ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ออกมายืนเป็นทัพหน้า ปลุกรากหญ้า ผ่านทัพการเคลื่อนไหวของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เข้าชนม็อบพันธมิตรที่ใช้ความเป็นอภิสิทธิ์ชนในบทบาทคนชั้นกลางบุกยึดทำเนียบรัฐบาล
การเดินสายของทัพ นปช. จึงดูท่าจะรุนแรงกว่าทัพพันธมิตร เพราะการเคลื่อน ไหวแบบเดินย้อนเกร็ดพันธมิตรทุกรูปแบบ ทั้งการเดินเกมแบบดาวกระจายกดดันตามสถานที่ราชการ การใช้สื่อเอ็นบีทีกระจายข่าวปลุกมวลชน ฯลฯ !!!
แนวทางที่ นปช.เลือกย้อนศรพันธมิตรนั้นมีความรุนแรงซ่อนอยู่ทุกซอกมุม ทว่าปัจจัยที่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญกว่าอะไรทั้งปวง คือ "มวลชน" เพราะมวลชนของฝ่าย นปช.เป็นมวลชนเฉพาะกิจ ที่ไร้การจัดตั้ง ดังนั้น ทิศทางการเคลื่อนทัพจึงยากต่อการควบคุม
นี่จึงเป็นสัญญาณความรุนแรงที่ยาก ต่อการประเมินว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย!!!
เพราะฝ่ายหนึ่งก็ยังคงคิดแผนโค่นสมัคร เพื่อผลักดันให้เกิดการเมืองใหม่ และจุดพลุให้เกิดสูตรการเมืองตามโควต้าอ้อย ผ่านรูปแบบการแต่งตั้ง 70 และการเลือกตั้ง 30 อย่างไม่มีท่าทีลดละ
ทว่าอีกฝ่ายหนึ่งแม้ในอดีตที่ผ่านมาจะไม่มีพฤติกรรมที่จะเคารพกติกา แต่ก็อ้างความชอบธรรมที่ถูกเลือกมาจากเสียงประชาชนส่วนใหญ่ผ่านกลไกประชาธิปไตย จึงต้องพิทักษ์กติกา
ทั้งสองแนวทางจึงเป็นคู่เส้นขนานที่ไม่มีทางบรรจบและยากต่อการประสาน ซึ่งวันนี้ก็เป็นข้อพิสูจน์ที่ดีว่า สภาไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขวิกฤตและการเปิดโต๊ะเจรจาคงไม่มีขึ้นอีก
หากสมัครยังยึดมั่นแนวทางเดิม ไม่ยุบสภา-ไม่ลาออก แต่จะยังคง "ทู่ซี้" บริหารประเทศต่อไป เส้นทางนี้จึงเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีในการก่อชนวนความรุนแรงและอาจเป็นแนวทางในการเปิดศึกให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายเข้าห้ำหั่นซึ่งกันและกันที่อาจจะนำไปสู่สงครามกลางเมือง เพราะเชื่อว่าแกนนำพันธมิตรคงไม่หยุดแต่เพียงเท่านี้
เมื่อเป็นเช่นนี้หนทางสุดท้ายของประเทศจึงไม่มีใครได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์แบบ แต่คนที่แพ้จะเป็นคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้น แนวทางที่จะดับชนวนของสงครามกลางเมืองจึงมีทางเดียวนั่นคือ สติ แต่เมื่อใดเลือดเข้าตาแล้วก็ไม่มีใครมองเห็นว่า สติ เป็นอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น: