วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

2ปีรัฐประหาร กับ2ขั้ว2แนวทางในพปช

2ปีรัฐประหาร กับ2ขั้ว2แนวทางในพปช.

ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน ให้นายสมัคร สุนทรเวช ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเข้าข่ายเป็น "ลูกจ้าง" จากการเป็นพิธีกรในรายการ "ชิมไปบ่นไป"
จังหวะแรกพรรคพลังประชาชนประกาศท่าทีชัดเจนว่าจะ "สู้" ตามกรอบของรัฐธรรมนูญและกระบวนการรัฐสภา โดยยืนยันว่า ในเมื่อนายสมัครยังเป็น ส.ส. ยังเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนที่ครองเสียงข้างมาก และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ก็พร้อมสนับสนุนให้นายสมัครกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง
ซึ่งเมื่อรับทราบผลหารือนายสมัครก็ขานรับทันทีว่าพร้อมจะสู้ต่อไปเพื่อรักษาประชาธิปไตย จะไม่ยอมถอย และไม่ยอมแพ้ต่อ "อำนาจมืด"แรกๆ 5 พรรคร่วมรัฐบาลก็ยืนยันเช่นกันว่าจะไม่เปลี่ยนขั้วและพร้อมสนับสนุนนายกฯคนใหม่ที่พลังประชาชนเลือกแต่ในคืนวันที่ 11 กันยายน ก่อนการเสนอชื่อนายสมัครต่อสภาฯ ภายในพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลก็เกิดแรงกระเพื่อมอย่างหนัก
เมื่ออดีตแกนนำพรรคไทยรักไทยบางคนเริ่มเดินเกมทั้งใน-นอกพรรค แถมยังอ้อมไปแตะซีกฝ่ายค้าน ท่ามกลางแรงกดดันพิเศษจากฝ่ายทหารที่แผ่ซ่านไปทุกกลุ่มเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน คือ นายกรัฐมนตรี คนที่ 26 จะต้องไม่ใช่นายสมัคร สุนทรเวช ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกันว่า หากเป็นคนนี้ ก็ไม่พ้นนองเลือด และหากจะรักษาประชาธิปไตย ก็ไม่จำเป็นว่านายกฯต้องชื่อสมัครในที่สุดก็นำไปสู่เหตุสภาล่มในเช้าวันรุ่งขึ้น สร้างความสับสนแก่คนทั้งประเทศ ขณะที่นายสมัครเริ่มถอย "ผมไม่เอาแล้ว ผมอายเค้า" ก่อนเก็บตัวเงียบอย่างรู้อนาคต พรรคพลังประชาชนต้องกลับมานับหนึ่งใหม่ โดยกลุ่ม ส.ส.อีสานกว่า 70 คน ในนาม "เพื่อนเนวิน" ที่รับไม่ได้กับการพลิกมติ เริ่มเดินเกมตอบโต้และเลือกที่จะชู นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรค มาเป็นตัวเลือกใหม่
หลังกระแสต้านนายสมัครทำท่ารุนแรงจนเจ้าตัวออกอาการถอดใจเป็นการเดินเกมตอบโต้และต่อสู้กันอย่างดุเดือดที่ดำเนินไปภายในพรรคเป็นหลัก ท่ามกลางการข่าวปล่อยผ่านไปในหมู่นักธุรกิจบางส่วนว่า นายเนวิน ชิดชอบ แม่ทัพคนสำคัญของซีกฝ่ายนี้กำลังต่อสายไปยัง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ว่าพร้อมเปิดตำนาน "งูเห่าภาค 2" นำ ส.ส.ในกลุ่มไปซบหากคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่ข่าวที่ว่าก็หักล้างไปโดยตัวมันเองเมื่อสุดท้ายหลังมีการพูดคุยทำความเข้าใจและ "ต่อรอง" กันภายในพรรคจนตกผลึก กลุ่มนี้ก็ยอมเปลี่ยนท่าทีมาหนุน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามมติใหม่ของพรรคในที่สุดหากตัดประเด็นตัวบุคคลที่นายสมัครอาจเป็นคนแข็งกร้าว ไม่ประนีประนอม
ขณะที่นายสมชายมีบุคลิกตรงกันข้าม จึงเป็นตัวเลือกใหม่ที่ดูเหมือนเหมาะสมกว่า แม้ว่าเขาคือ น้องเขย ซึ่งเสี่ยงที่จะถูกหวาดระแวงกว่าการเป็นนอมินี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เช่นที่นายสมัครถูกกล่าวหานี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในพรรคพลังประชาชน ท่ามกลางการต่อสู้ 2 แนวทางของ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ยึดเอาการต่อสู้ขับเคี่ยวภายในพรรคเป็นหลัก กับกลุ่มที่ถนัดเกมล็อบบี้ทุกทิศทางแม้กระทั่งฝ่ายค้านและกลุ่มทหารที่จ้องโค่นล้ม ภายใต้ข้ออ้าง "เพื่อความสมานฉันท์" ส่วนแนวทางไหนหรือใครกันแน่ที่ได้แรงหนุนจากแดนไกล ขอไม่กล่าวถึงทว่าผลที่ตามมาคือ รอยร้าวลึกในพรรคพลังประชาชนที่พร้อมแยกเป็น 2 เสี่ยงในไม่ช้า เข้าทางเจตนารมณ์แผนบันได 4 ขั้นของ คมช.
หลังจากที่การรัฐประหารมุ่งล้มล้างพรรคไทยรักไทยและรัฐบาลทักษิณ ล่วงเข้าปีที่ 2 จึงไม่แปลกที่หลังโหวตเลือกนายสมชายเป็นนายกฯจบสิ้นลง โดยที่พรรคพลังประชาชนยังสามารถรักษาความเป็นเอกภาพไว้ได้โดยพื้นฐาน ก็เริ่มมีสัญญาณออกมาอย่างชัดเจนจาก นพ.สุรพงษ์ หนึ่งในกลุ่มที่ถูกจงใจขนานนามว่า "แก๊งออฟโฟร์" ที่ประกาศขอวางมือจากตำแหน่งทางการเมืองโดยอ้างเหตุคดีหวยบนดิน
หลังจากที่บทบาทหลักในการฟอร์ม ครม.ชุดใหม่ซึ่งเดิมเป็นของเลขาธิการพรรคแกนนำ ถูกช่วงชิงไปอยู่ในมือ "แก๊งออฟทรี" คือ ยงยุทธ ติยะไพรัช, เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เรียบร้อยคำถาม คือ ท่ามกลางการจ้องทำลายพรรคและนักการเมือง ท่ามกลางการต่อสู้ 2 แนวทางดังกล่าว และท่ามกลางภาวะแตกแยกอันสะท้อนถึงความอ่อนแอของระบบพรรคการเมืองที่ยังห่างไกลจากความเป็นสถาบัน ประชาธิปไตยของไทยจะพัฒนาเข้มแข็งต่อไปได้ด้วยวิถีทางใด โดยไม่ถอยหลังเข้าคลองไปกับ "การเมืองใหม่" อันย้อนยุค

ไม่มีความคิดเห็น: