วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2551

"อนุพงษ์”รับรบ.แห่งชาติ-นายกฯคนนอกเป็นไปได้ยาก

“อนุพงษ์”รับรบ.แห่งชาติ-นายกฯคนนอกเป็นไปได้ยาก แนะนายกฯคนใหม่ต้องแก้ปมขัดแย้งเร่งด่วน จี้รบ.ต้องเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหตุกระทบศก.-สังคม ยันทหารเป็นหลักชาติ ไร้วาระส่วนตัว ไม่แทรกแซงการเมือง ยันปฏิวัติไม่แก้ปัญหา แต่ช่วยเพิ่มปัญหา ปัดทหารวิ่งล็อบบี้พรรคการเมือง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการลับ ลวง พราง ทางสถานีวิทยุเอฟเอ็ม 100.5 ถึงการประกาศยกเลิกพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ว่า สถานการณ์ฉุกเฉินที่คณะกรรมการได้พิจารณาร่วมกัน ในเรื่องของการปะทะกันของกลุ่มผู้ชุมนุม 2 กลุ่ม ซึ่งขณะนี้ทางฝ่ายตำรวจและทหารได้เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว คาดว่า น่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ดังนั้นสถานการณ์น่าจะไม่ต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในการดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศใช้ได้ส่งผลกระทบต่อทางเศรษฐกิจและสังคมมากจึงคิดว่า น่าจะพิจารณาในการยกเลิก รวมถึงในเรื่องภาพพจน์ต่อต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเพราะ การเดินทางมาประเทศที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน ทางประกันภัยเขาจะไม่รับรอง ดังนั้นเขาจึงไม่กล้าเดินทางมา เมื่อถามว่า จำเป็นจะต้องมีการคงการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินจนกว่าจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า คงต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลว่า จะเห็นเหมาะสมประการใด เมื่อถามว่า หวั่นหรือไม่ว่าจะเกิดการปะทะกันระหว่างคนสองกลุ่มอีก พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เท่าที่เราได้เตรียมแผนไว้เพื่อดูแลในส่วนนี้ได้พยายามสร้างความเข้าใจจึงคิดว่า ไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรง ทั้งนี้ทางคณะกรรมการได้กำหนดให้กองทัพภาคที่ 1 และตำรวจนครบาลประสานกับกลุ่มนปช. ส่วนกรณีที่พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับกลุ่มนปช.นั้น ได้ให้เพื่อนร่วมรุ่นของพล.ต.ขัตติยะติดต่อไปอย่างไม่เป็นทางการ อย่างไรก็ตามเท่าที่ติดตามสถานการณ์เชื่อมั่นว่า คนในกองทัพ มีความเข้าใจตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาไม่เคยมีใครวุ่นวาย และยังอยู่ในสถานะที่เรียบร้อยอยู่ เมื่อถามว่า ยืนยันว่าจะไม่มีการสลายม็อบในช่วงสุญญากาศ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า คณะกรรมการได้ให้ข้อพิจารณาในเรื่องนี้ว่า เดิมทีเขามีการชุมนุมอยู่แล้ว เมื่อพ.ร.ก.ออกมาสั่งว่าห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ซึ่งเท่ากับว่า มีการชุมนุมอยู่แล้ว แต่สั่งห้าม หมายความว่า ต้องเข้าไปดำเนินการ แต่เมื่อมีการดำเนินการไปครั้งหนึ่งโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งผลที่ตามมายิ่งทำให้เกิดปัญหาและความไม่สงบมากกว่าเดิม อย่างนี้ไม่ได้เรียกว่า แก้ปัญหา แต่ไปเพิ่มปัญหา ดังนั้นต้องใช้มิติอื่น ซึ่งขณะนี้ทางการเมืองพยามยามแก้ไขสถานการณ์ อย่างเช่นที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้มีการดำเนินการ และประชาชนทั่วไปคงจะลดอุณหภูมิในการที่จะไปมีส่วนร่วม ดังนั้นเชื่อว่า น่าจะค่อยๆแก้ปัญหาไปได้เรื่อยๆในตัวเอง เมื่อถามว่า ทำอย่างไรให้ทหารอดทนต่อสถานการณ์ทางการเมืองได้ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เราต้องพูดให้ทุกคนเข้าใจว่า ทหารควรจะเป็นหลักของบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซึ่งเราต้องประกันความมั่นคงของประเทศชาติ และตนยืนยันว่าไม่มีวาระส่วนตัวใดๆทั้งสิ้น หากผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าใจและเชื่อมั่นว่าตนจะไม่นำพาเขาไปในทางที่ผิด จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาไม่เข้าไปยุ่ง เมื่อถามว่า การเมืองยังหาทางออกให้กับสถานการณ์ไม่ได้ กองทัพจะมีจุดยืนอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า คงเหมือนเดิม เพราะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองพยายามแก้ไขปัญหากันอยู่ เราคงเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เมื่อถามว่า มีนักการเมืองตั้งข้อสังเกตว่าทหารบางกลุ่มไปล็อบบี้ทางการเมือง พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่มี ตนเข้าใจคงทำไม่ได้ เพราะนักการเมืองมีปัจจัยที่จะต้องพิจารณาร่วมกันในเรื่องอื่นๆ เมื่อถามว่า หากตกลงกันไม่ได้ จะนำไปสู่การตั้งรัฐบาลแห่งติหรือนายกรัฐมนตรีคนนอกหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลแห่งชาติคงมีความยากพอสมควรที่จะเกิดขึ้นได้ และบางคนไม่ค่อยจะยอมรับ เพราะใช้ในช่วงสั้นๆเท่านั้น และไม่มีฝ่ายค้านที่คอยตรวจสอบ ถ่วงดุล ส่วนนายกฯคนนอกยิ่งยาก เพราะเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญด้วย เมื่อถามว่า ขณะนี้พอจะเห็นนายกฯคนใหม่หรือยัง พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า คงจะต้องมีได้แน่นอนในจำนวนส.ส.ที่มีอยู่ เมื่อถามถึงกรณีที่ท่านระบุว่า นักการเมืองควรจะต้องเสียสละ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็แล้วแต่ เมื่อปัญหาเกิดขึ้นต้องมีคนยอมเสียสละ เพื่อจะได้สามารถตกลงกันได้ แต่ตนไม่ได้ระบุว่าจะต้องเป็นใคร เมื่อถามว่า หนักใจหรือไม่ที่ประชาชนฝากความหวังให้กองทัพแก้ปัญหา พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เข้าใจว่าทุกคนในประเทศเราหนักทั้งนั้น หนักที่จะต้องหาทางสร้างความเข้าใจทุกๆฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ นักวิชาการพยายามช่วยทำให้ลุล่วงไปได้ แต่ตนว่าหนัก เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรที่มีประชาชนพยายามปลุกให้ทหารออกมาปฏิวัติ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า หนึ่งคือ ถ้าทำแล้วจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ และเมื่อคิดทีละประเด็นไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เลย สองคือ เมื่อทำแล้วผลกระทบที่ตามมาไม่ว่าจากภายใน ทั้งกลุ่มนักวิชาการ อาจารย์ กลุ่มไม่เอาการปฏิวัติ และกลุ่มต่อต้านเดิมที่มีอยู่ รวมถึงผลกระทบระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจ ซึ่งจะน่าส่งผลกระทบมากและสูงกว่าที่จะรับได้ รวมถึงอาจจะไม่ได้เรียกว่า แก้ปัญหา และไม่น่าจะทำได้ เพราะมีผลกระทบถึงสองอย่างจึงไม่น่าจะใช้วิธีนี้ รวมถึงได้มีการประเมินบทเรียนจากการปฏิวัติครั้งที่ผ่านมาด้วย ทั้งนี้ตนมั่นใจว่า ข้าราชการในกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศมีความเข้าใจสถานการณ์ ทุกคนพยายามที่จะทำให้สถานการณ์ผ่านไปด้วยดี
เมื่อถามว่า พอใจหรือไม่ที่การโหวตเลือกนายกฯเลื่อนออกไปเพราะได้ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ไปบ้าง พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ตนรู้สึกเช่นเดียวกับประชาชนทั่วๆไป ถ้าอะไรที่เกิดขึ้น ประชาชนเขารู้สึกเบา ตนก็รู้สึกเบาไปด้วย เมื่อถามว่า หากได้นายกฯเร็วๆจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า น่าจะดีขึ้น เพราะเราคงทนสุญญากาศไม่ได้ ในขณะนี้ถ้าสามารถจบเรื่องความขัดแย้งได้ และให้ประเทศเดินหน้าไปได้ น่าจะเป็นเรื่องที่ดี เมื่อถามว่า นายกฯคนใหม่ควรมีลักษณะอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า อย่างที่ทุกคนเห็นว่า หากมีความขัดแย้งอยู่ก็ต้องเป็นวาระเร่งด่วน หากตรงนี้จบได้ ประเทศเราเดินหน้าได้แน่นอน
เมื่อถามว่า จุดยืนของกองทัพต่อผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องเป็นอดีตนายทหารหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะที่ผ่านมานายสมัคร สุนทรเวช อดีตรมว.กลาโหม ดูแล ดำเนินการให้กระทรวงกลาโหมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยได้ เมื่อถามว่า ต้องกระซิบทหารก่อนหรือไม่ว่าจะนำใครมาเป็นรมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่จำเป็น


โพสต์โดย: นางสาวภัทราสิยากร ณ นคร ID: 5131601005

1 ความคิดเห็น:

* Discuss Of Law * กล่าวว่า...

คนนอกคงเป็นนายกได้ยากจริง ๆ แหละ เดี๋ยวเกิดไม่ชอบอีกก็ประท้วงกันอีกประจำแหละ ไม่มีวิธีที่ดีกว่านี้บ้างเลยหรอ สงสารประเทศชาติจริง ๆ คนนั้นก็จะเอาคนนี้ คนนี้ก็จะเอาคนนั้น วุ่นวายซับซ้อนไปหมดเลย



นางสาวภัทราสิยากร ณ นคร
ID:5131601005 SEC:1