วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551

พปช.ปล่อยข่าวจ่ายหัวละ 30 ล้าน! ซื้อเสียงดึงส.ส.หนุน มาร์ค นั่งนายกฯ

โดย มติชน วัน พุธ ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551 00:00 น.

เติ้ง บอกกลัวอายุสั้นไม่รับตำแหน่ง สะพัด ปชป.ขออดีต บิ๊กคมช. ล็อบบี้พรรคเล็กเปลี่ยนขั้ว ด้าน พปช.ปล่อยข่าวฝ่ายค้านจ่ายหัวละ 30 ล้าน ซื้อเสียง ส.ส.พปช.หนุน อภิสิทธิ์ นั่งนายกฯ นักวิชาการแนะ สมัคร อย่ากลับมาดีกว่า เตือนพรรร่วมคิดให้ดี พผ. แทงกั๊กดูท่าทีพรรคอื่นก่อน

ความเคลื่อนไหวและท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรค หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายสมัคร สุนทรเวช ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกฯ แล้ว
เมื่อเวลา 15.30 น. เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่พรรคชาติไทย นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวภายหลังการประชุมพรรคกว่า 3 ชั่วโมงถึงกรณีมีกระแสข่าวถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายสมัคร ว่า ให้อยู่อย่างนี้ดีกว่า กลัวอายุจะสั้น ไม่ขอรับตำแหน่งดีกว่า เหตุการณ์แบบนี้รับไม่ไหว ตนคงทนแรงเสียดทานไม่ได้ เพราะมีความอดทนไม่พอ คงทนไม่ได้
"อย่าเอาเรื่องมาให้ผมหน่อยเลยน่า ผมอายุ 70 กว่าแล้ว อยากอยู่สบายๆ ทางออกบ้านเมืองขณะนี้ดูจะริบหรี่ ผมไม่ขอออกความคิดเห็น หากให้ความเห็นอะไรไปเดี๋ยวแกนนำพันธมิตรอาจติติงได้" นายบรรหาร กล่าว
เมื่อถามว่า พรรค พปช.มีมติให้นายสมัครกลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯอีกครั้ง นายบรรหารกล่าวว่า ยังไม่รู้ เอาไว้ถึงตอนนั้นค่อยว่ากัน คงต้องรอดูสถานการณ์ไปก่อน เพราะเหตุการณ์มันแย่แล้ว
ชท.กั๊กหนุน สมัคร ขอตั้งสติก่อน
รายงานข่าวจากพรรคชาติไทยแจ้งว่า ในที่ประชุมพรรค นายบรรหารกล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าว ส.ส.พรรคพลังประชาชนจะโหวตให้นายสมัครกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง "ก็ต้องปล่อยให้เขาทำกันไป เพราะเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมาก แต่เราคงต้องเสนอให้พรรคพลังประชาชนเสนอบุคคลที่เหมาะสมกว่านี้มาเป็นนายกฯ"
จากนั้น ส.ส.พรรคอภิปรายเพื่อสนับสนุนให้นายบรรหารเป็นนายกฯอีกครั้ง เพราะมองว่าโอกาสนี้เป็นจังหวะดีที่จะกลับมาบริหารบ้านเมืองอีกครั้ง แต่นายบรรหารกล่าวกับลูกพรรคว่า "สถานการณ์การเมืองแบบนี้ใครมาเป็นนายกฯ ก็ลำบาก" แหล่งข่าวอ้างคำพูดนายบรรหาร
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า "ตอนนี้อย่าพูดว่าสนับสนุนนายสมัครเลย ในพรรคต้องหารือร่วมกันก่อน พรรคไหนที่มีเสียงข้างมาก ต้องให้โอกาสเขา แต่ถ้าพรรคเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็ให้พรรคอันดับถัดไปจัดตั้ง แต่เวลานี้ดีที่สุดคือให้ทุกฝ่ายตั้งสติก่อน"
ทั้งนี้ พรรคชาติไทยจะนัดหารือกันอีกครั้งในวันที่ 11 กันยายน
พผ.ก็ขอดูท่าทีพรรคอื่นก่อน
วันเดียวกันนี้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน (พผ.) นัดกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.พรรคประชุมเพื่อกำหนดจุดยืนทางการเมือง ณ ที่ทำการพรรค ถนนวิทยุ โดยที่ประชุมมี ส.ส.อีสานคนหนึ่งเสนอให้ พผ.ชิงถอนตัวจากการร่วมพรรครัฐบาลเพื่อแสดงให้ถึงความฮีโร่และยึดมั่นกระบวนการยุติธรรมของไทย ขณะที่นายสมัครไม่มีอำนาจยุบสภา อย่างไรก็ตาม ส.ส.ส่วนใหญ่เห็นว่าควรเป็นพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป เนื่องจากพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา (รช.) และมัชฌิมาธิปไตย (มฌ.) ตกลงกับแกนนำพรรค พปช.ว่าจะสนับสนุนนายสมัครต่อไป ถ้าพรรค พปช. รวมกับ 2 พรรคดังกล่าว เสียงในสภาก็เกินกึ่งหนึ่งแล้ว จึงไม่มีประโยชน์ที่จะถอนตัว ท้ายที่สุดนายสุวิทย์จึงเรียกนายไชยยศ จิรเมธากร โฆษกพรรค พผ. ไปตกลงไปการส่วนตัวเพื่อแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่าจุดยื่นของพรรค พผ.ออกมาแบบกลางๆ
ด้านนายไชยยศแถลงที่พรรคว่า พผ.จะยังไม่ขอแสดงจุดยื่นใดๆ ในขณะนี้ แต่ขอรอดูท่าทีจากทุกพรรคการเมืองก่อน และมีมติมอบอำนาจกลับไปให้นายสุวิทย์เป็นผู้ประสานงานของพรรค
สุเทพ ชวนทุกพรรคร่วมมือกัน
ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค ปชป. กล่าวว่า หากพรรค พปช.ยังดึงดันที่จะโหวตให้นายสมัครกลับมาเป็นนายกฯอีก ปัญหาบ้านเมืองก็คงคลี่คลายไม่ได้ และไม่สวยงาม เพราะการที่ศาลไม่รับฟังคำชี้แจงของนายสมัคร เพราะขัดกับข้อเท็จจริง แสดงถึงความไม่น่าเชื่อถือ การจะมาเป็นนายกฯอีกครั้งคงไม่สวยงาม
"จึงอยากจะใช้จังหวะนี้ชักชวนทุกพรรคการเมืองมาปรึกษาหารือและร่วมมือกัน ก่อนหน้านี้ ประธานวุฒิสภา ประธานสภา และตัวแทนพรรคมาประชุมกัน และเห็นว่านายสมัครควรลาออกหรือยุบสภา แต่เมื่อนายสมัครพ้นจากนายกฯแล้ว ควรจะดำเนินการต่อไปให้ถูกต้อง โดยเลือกคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม สามารถมาแก้ปัญหาวิกฤตบ้านเมืองได้" นายสุเทพกล่าว และว่า ส่วนจะมีการเปลี่ยนขั้วการเมืองหรือไม่นั้น พวกตนเป็นฝ่ายเสียงน้อย คงไม่ไปเรียกร้องอะไร แต่พร้อมร่วมมือกับทุกพรรค เพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย
ปชป.เบรกรีบเลือกนายกฯให้รอ25ก.ย.
เมื่อเวลา 14.00 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีการประชุม ส.ส.ปชป. และมีการชมการถ่ายทอดสดการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผ่านทางจอโปรเจ็คเตอร์ในห้องประชุม ทันทีที่ศาลวินิจฉัยว่านายสมัครขาดคุณสมบัติ ปรากฏว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์บางส่วนปรบมือ ต่อมานายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการที่ปรึกษาพรรค ปชป. แถลงว่า ที่ประชุมกังวลท่าทีพรรค พปช.ที่เร่งรัดสรรหานายกฯใหม่ในสัปดาห์นี้ ควรเปิดโอกาสให้ ส.ส.ตั้งหลักระยะหนึ่ง อีกทั้งนายกฯพ้นตำแหน่งเฉพาะตัว คณะรัฐมนตรียังสามารถทำงานต่อไปได้ จนกว่าจะมีนายกฯใหม่ การแต่งตั้งนายกฯ ช้าไป 3-4 วันน่าจะรอกันได้
นายบัญญัติกล่าวว่า นอกจากนี้วันที่ 25 กันยายน ศาลอุทธรณ์จะอ่านคำพิพากษานายสมัคร ในคดีหมิ่นประมาทนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. หากพรรคร่วมรัฐบาลจะสนับสนุนให้นายสมัคร กลับมาอีกครั้ง แต่ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นก็จะขาดคุณสมบัติอีกครั้ง และต้องเลือกนายกฯอีกครั้งหรือไม่
"ดังนั้น การรวบรัดตัดความเลือกนายกฯ ในเวลาที่สั้นเกินไปตั้งหลักไม่ทันก็ไม่น่าจะเป็นประโยชน์ หากเลือกคนที่สังคมยอมรับได้ก็จะเป็นก้าวแรกที่ลดความขัดแย้งในบ้านเมืองให้น้อยลง" นายบัญญัติกล่าว
พปช.จับมือ บิ๊ก คมช. ล็อบบี้พรรคเล็ก
แหล่งข่าวจากพรรคพลังประชาชาอ้างว่า ขณะนี้แกนนำพรรคประชาธิปัตย์มีการต่อสายกับนายทหารระดับสูงซึ่งเป็นอดีตคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ให้ช่วยต่อรองพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนขั้วมาจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าหากพรรคพลังประชาชนยังเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล และหากนายสมัครกลับมาเป็นนายกฯอีก สถานการณ์ความข้ดแย้งในสังคมคงไม่ยุติ และกลุ่มพันธมิตรคงไม่ยุติการชุมนุม คาดว่าจะมีการพูดคุยกันอย่างจริงจังในช่วงค่ำของวันเดียวกันนี้
พปช.อ้าง ปชป. แซะส.ส.ในพรรค
ขณะที่รายงานข่าวจากพรรค พปช. แจ้งว่า ขณะนี้มีความพยายามจากคนใกล้ชิดแกนนำสำคัญของพรรค ปชป. ที่เจรจาขอเสียงจาก ส.ส.พรรค พปช. เพื่อลงมติสนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป.เป็นนายกฯคนต่อไป โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ ซึ่งพรรค ปชป.ต้องการเสียงจากส.ส.พปช.ประมาณ 25-30 เสียง โดยมีการติดต่อ ส.ส.กลุ่มขุนค้อน และ ส.ส.กลุ่มอีสานพัฒนา ทั้งนี้ หากมีการตอบรับ มีการพูดถึงเงิน 30 ล้านบาท รวมถึงจะมอบตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย อย่างไรก็ตาม ส.ส. 2 กลุ่ม ยังไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะตอบรับหรือปฏิเสธ แต่ขอรอดูสถานการณ์และปฏิกิริยาบรรดาแกนนำของกลุ่มอีกระยะหนึ่งก่อน
นักวิชาการให้พรรคร่วมคิดรอบคอบ
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อเส้นทางที่เคยตีบตันเปิดประตูออกมาแล้ว ก็เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องคิดให้รอบคอบว่าจะทำอย่างไร พรรคร่วมรัฐบาลต้องคิดให้ดีว่าจะให้นายสมัครกลับเข้ามารับตำแหน่งอีกหรือไม่ เชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะมีการต่อรองกันอย่างสูงจนกว่าจะถึงวันโหวตนายกฯ
"ถ้ายังเป็นนายสมัคร หรือคนของพรรคพลังประชาชนเป็นนายกฯอีก สถานการณ์การเมืองก็คงไม่แตกต่างอะไรจากตอนนี้ จะทำให้ทางออกตีบตัน กระแสต่อต้านก็ยังคงมีอยู่อีก" นายปริญญากล่าว และว่า เชื่อว่านายบรรหารจะมีโอกาสมากที่สุด
ด้านนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าหากนายบรรหารเป็นนายกฯสถานการณ์น่าจะดีขึ้น เพราะถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงตามที่หลายคนต้องการ ส่วนที่นักวิชาการเสนอว่า หากบ้านเมืองถึงทางตัน ให้ยกเว้นรัฐธรรมนูญบางมาตราเพื่อให้คนนอกมาเป็นนายกฯนั้น เป็นไปได้ยากมากๆ ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของสภาก็ดีอยู่แล้ว อย่าไปคิดทางอื่นเลย
บวรศักดิ์ ชี้ สมัคร ไม่ควรกลับมา
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า จากนี้ไปสภาผู้แทนราษฎร ต้องให้ความเห็นชอบนายกฯคนใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นายกฯพ้นจากตำแหน่ง เมื่อถามว่า นายสมัคร จะกลับมาเป็นนายกฯต่อได้หรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ถ้าดูแต่ตัวบทกฎหมายก็ได้ แต่ถ้าดูเรื่องจริยธรรมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากเป็นตนจะไม่กลับมาอีก เพราะอธิบายให้โลกทั้งโลกฟังไม่ได้ว่า นายกฯกระทำการขัดในเรื่องประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม เพราะคำวินิจฉัยบางส่วนระบุว่า เชื่อได้ว่า มีการทำพยานหลักฐานขึ้นใหม่ จึงเป็นเรื่องจริยธรรมที่ลึกซึ้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความคำว่าลูกจ้างจนมีผลออกมาดังกล่าว นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญตีความกว้างไกลกว่าในรัฐธรรมนูญ การวินิจฉัยคำว่าลูกจ้าง ถ้าความเข้าใจทั่วไปของคนเรียนกฎหมาย จะเป็นไปตามสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่ง ในกฎหมายแรงงาน แต่ศาลรัฐธรรมนูญตีความกว้างกว่าโดยยึดตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้ใช้ตำแหน่งหน้าที่มาเอื้อประโยชน์ส่วนตัว การตีความแบบนี้ ไม่เสียหาย และเป็นเรื่องดี นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา 181 เขียนไม่ชัดว่า เมื่อ ครม.พ้นจากตำแหน่ง ให้รักษาการจนกว่าจะมี ครม.ใหม่มา ศาลรัฐธรรมนูญก็ให้ความชัดเจนว่า รัฐมนตรีคนอื่นๆ รักษาการได้ ยกเว้นนายกฯ ถือเป็นมิติใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ
นิด้า ให้5พรรคร่วมจับมือปชป.
ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เครือข่ายคณาจารย์ สมาคมพัฒนาสังคม นักศึกษา และภาคีวิชาการ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกันออกแถลงการณ์ ทางออกวิกฤตชาติŽ โดยระบุว่า จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9-0 ให้นายสมัคร ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี ขอเสนอดังนี้
1.ขอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่เลือกนายสมัคร เป็นนายกฯ เนื่องด้วยนายสมัคร ขาดความชอบธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้สังคมไทยหลีกเลี่ยงความรุนแรงหากนายสมัคร ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯอีกครั้ง
2.ขอให้พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 5 พรรค ร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อบรรเทาปัญหาความขัดแย้งและเตรียมการปฏิรูปทางการเมือง
3.ขอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนภาคประชาชนจากทุกภาคส่วนดำเนินการศึกษารูปแบบการปกครองที่เหมาะสม
4.ขอให้ประชาชน นักวิชาการ นักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร และกลุ่มอาชีพอื่นๆ เข้ามีส่วนร่วมการปฏิรูปการเมือง ทุกขั้นตอน เพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเต็มรูปแบบและยั่งยืนสืบไป
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สว.สรรหา ในฐานะผู้ร้องที่ 1 ในคดีดังกล่าว ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากนี้ทั้ง 7 พรรคต้องไปหารือกันเพื่อหาทางออกต่อไป ซึ่งวิกฤตก็ย่อมมีโอกาส หลังฝนตกหนักฟ้าจะใส ต่อไปนี้ก็เป็นหน้าที่ที่ต้องให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องหาทางออกกันไป หลังจากนี้ประตูข้างหน้ามาอยู่ที่สภาแล้วตามที่พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. กล่าวไว้
โพลต์โดย : นางสาวกิตติยา ประสานสมบัติ ID: 5131601009

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

การเมืองบ้านเราไม่สามารถที่จะล้มล้างระบบการเมืองแบบซื้อเสียงหรือการโกงกินแบบนี้ออกไปได้ซะทีประเทศของเราเลยยังไม่สามารถที่จะพัฒนาไปได้อย่างนานาประเทศเขาซักที ถ้าเรามัวแต่ที่จะมาแข่งว่าจะให้คนนั้นคนนี้เข้ามากินได้มากกว่ากัน แต่ไม่เคยที่จะมีใครเลยที่จะมาคิดดูแลประเทศอย่างจริงจังไหนเลยจะมีใครเหลี่ยวแลบ้านเมืองของเราเท่ากับตัวของเราเอง

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

การให้นายสมัครหลับมาหรือไม่นั้นเราควรคิดกันใดเสียก่อนว่า ถ้าการที่เค้ากลับมาแล้ว พวกเค้าจะทำให้บ้านเมืองดีขึ้นหรือเปล่าหรือว่าจะยังเป็นอยู่เหมือนๆเดิม ถ้าในเมื่อยังเหมือนเดิมอยู่เราก็น่าจะให้โอกาสพรรคใหม่ๆมารับใช้ประเทศชาติเสียบ้าง ไม่ใช่เลือกพรรคการเมืองกลุ่มเดียวมาทำงาน พอทำงานไม่ดีหน่อยก็มาประท้วงว่าไม่ดีอย่างโน้นไม่ดีอย่างนี้ เมื่อพวกเราไปประทัวงกันบ้านเมืองก็มีแต่จะเสียหาย ต่างประเทศเค้าก็มองว่าเราเป็นประเทศที่ยังด้อยพัฒนา แล้วจะมีประเทศไหนมาลงทุนที่ประเทศเราล่ะ มันก็จะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำเอาเปล่าๆ ทำไมเราไม่เสนอรายชื่อถอดถอนรัฐมนตรีเอาล่ะไม่ต้องไปประท้วงให้เกิดความรุนแรงอะไรหรอก
การที่พรรคอะไรมาบริหารประเทศนั้น ทุกๆพรรคก็ทุตริตกันทั้งนั้นแหละแต่ขึ้นอยู่กับว่าพวกเค้าจะโกงมากหรือน้อย แล้วจะทำประโยชน์ให้กับประเทศได้มากเท่าไร ก็ขอให้เราพินิจพิจารณากันให้ดีๆว่าควรจะเลือกพรรคอะไรมาบริหารประเทศ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก