วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2551

8 เหตุผลที่จะทำให้กลุ่มพันธมิตรปราชัย

8 ข้อต่อไปนี้ คือเหตุผลที่ทำให้ความนิยมในกลุ่มพันธมิตรเสื่อมลงในเวลาอันรวดเร็ว (ทั้งที่ถูกกระทำและกระทำด้วยตัวเอง)
1. ใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ คนทั่วไปเข้าใจได้ว่า การชุมนุมเรียกร้องโดยความสงบเป็นวิถีที่พึงทำได้ แต่แกนนำพันธมิตรประเมินแล้วว่า ถ้ายังคงชุมนุมในรูปแบบเดิม จะทำให้กลุ่มของตนอ่อนแรงไปเรื่อยๆ จึงใช้มาตรการแตกหัก เข้าบุก NBT และทำเนียบ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่รับไม่ได้ โดยมองว่านี่เป็นการกระทำเกินเลยจากวิถีอหิงสา (อหิงสา : ความไม่เบียดเบียน ,การเว้นจากการทำร้าย)
2. ทำให้ประชาชนเดือดร้อน แกนนำพันธมิตรพึงตระหนักไว้ว่าคนที่มีใจโอนเอียงมาทางกลุ่มพันธมิตร มีไม่เกิน 20%ของคนทั้งประเทศ ขณะที่คนส่วนใหญ่ยังอยู่ตรงกลาง ไม่ชอบรัฐบาล แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพันธมิตรทั้งหมด การปิดถนน การหยุดเดินรถไฟ เท่ากับการผลักประชาชนไปยืนฝั่งตรงกันข้าม
3. การแทรกแซงสื่อ จริงอยู่ว่าการที่รัฐบาลสมัครเข้าไปยึด NBT เพื่อโฆษณาชวนเชื่อให้กับกลุ่มตนเองเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าต้องแก้ปัญหาด้วยการไปยึด ไปปิดสถานี ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการตั้งศาลเตี้ยตัดสินคดีด้วยตนเอง หนทางที่ถูกต้อง คือให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน เพื่อให้คนลดความเชื่อถือใน NBT แล้วใช้วิธีการทางรัฐสภาในการจัดการปัญหา ไม่ใช่ไปแทรกแซงเสียเอง
4. การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ที่ผ่านมากลุ่มพันธมิตรมักจะเรียกร้องให้นำกระบวนยุติธรรมเข้ามาแก้ปัญหาคอรัปชั่น การโกงเลือกตั้ง แต่พอศาลตัดสินให้ฝ่ายตนต้องปฏิบัติตามบ้าง กลับดื้อแพ่ง คนที่ไม่ยึดหลักการ มีสองมาตรฐาน ต่อไปใครจะเชื่อถือ อย่าลืมว่าสถาบันตุลาการยังเป็นสถาบันที่คนไทยให้ความเชื่อถือสูงมาก ใครฝ่าฝืน ย่อมมีภาพลักษณ์เป็นลบในสายตาประชาชน
5. นักวิชาการ สื่อมวลชนเริ่มผละออก การที่กลุ่มพันธมิตรเรียกร้องความสำเร็จเร็วเกินไป จนต้องใช้มาตรการเด็ดขาดเข้าเผด็จศึก ทำให้คนที่เคยแอบให้กำลังใจกลุ่มพันธมิตรเริ่มอึดอัด จนถึงยอมรับไม่ได้ นักวิชาการบางคนเริ่มให้สัมภาษณ์ในเชิงตำหนิ สื่อมวลชนหลายแขนง เริ่มไม่สนับสนุน หรือตั้งคำถามในความถูกต้องของปฏิบัติการที่เกิดขึ้น
6. ภาพลักษณ์แกนนำพันธมิตรแข็งกร้าวเกินไป ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า คนเหล่านี้เป็นพวกหัวรุนแรง กระทำสิ่งต่างๆ เพียงเพื่อสนองอารมณ์ตนเอง ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้บางคนในแกนนำมีภาพลักษณ์มีผลประโยชน์ทางธุรกิจแอบแฝง ยิ่งทำให้ภาพพจน์แย่ลงไปอีก
7. รัฐบาลสมัครสร้างภาพสุขุม เป็นผู้ใหญ่ เดิมที นายสมัคร สุนทรเวชเป็นคนที่มีบุคลิกแข็งกร้าว ดุดัน แต่เมื่อประเมินสถาการณ์แล้ว การดึงดันมีแต่จะสร้างภาพลบ ขณะที่การทำตัวเป็นผู้ใหญ่จะได้คะแนนเห็นใจอีกโข จึงเห็นภาพของนายสมัครที่อ่อนละมุน สุขุมจนผิดสังเกตุ
8. รัฐบาลใช้สื่อรัฐเร่งดิสเครดิสกลุ่มพันธมิตร สมัย 6 ตุลา กลุ่มขวาจัดใช้สถานียานเกราะปลุกระดม ทำลายความเชื่อถือที่คนมีต่อศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(ศนท.) จนคนจำนวนหนึ่งเชื่อว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ ปัจุบันบัน NBT พยายามใช้ถ้อยคำปลุกเร้าให้คนเชื่อว่ากลุ่มผู้ชุมนุนเป็นพวกหัวรุนแรง พยายามใช้บุคคลที่สังคมให้ความเชื่อถือ ไม่ว่านักวิชาการ พระสงฆ์ ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง มาพูดเตือนสติคนที่ชุมนุม ทำให้ผู้ชมโทรทัศน์คล้อยตาม
อย่าลืมว่านายสมัครไม่ใช่มือใหม่ทางการเมือง เขาผ่านร้อนผ่านหนาวทางการเมืองมาไม่ต่ำกว่า 40 ปี ยุทธวิธีที่ใช้ในปัจจุบันจึงไม่ต่างอะไรจากสมัย 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เช่น
1. แบ่งแยกนักวิชาการ สื่อบางส่วน ออกจากกลุ่มพันธมิตร ( ดึงนักศึกษาอาชีวะออกจากศนท.)
2. หลอกให้พันธมิตรไปบุก NBT โดยง่าย และนำอาวุธที่ยึดได้จากทำเนียบมาแสดง (สร้างภาพนักศึกษาเป็นพวกหัวรุนแรง)
3. ใช้ NBT โจมตีกลุ่มพันธมิตรต่อเนื่อง (ใช้ยานเกราะปลุกระดมให้คนเกียดชังนักศึกษา)
4. ใช้หมายศาลสร้างความชอบธรรมในการสลายการชุมนุม (ใช้ภาพคนถูกแขวนคอ สร้างความชอบธรรมในการกวาดล้างนักศึกษา)
การเคลื่อนไหวเรียกร้องใดๆ ถ้ามุ่งบุกไปข้างหน้าโดยไม่ดูว่ามวลชนพร้อมหรือไม่ ตามทันหรือไม่ สุดท้ายก็จะถูกโดดเดี่ยวอย่างที่แกนนำพันธมิตรและพวกพ้องต้องประสบในไม่ช้า หากยังไม่รีบทบทวนยุทธศาสตร์ที่ดำเนินอยู่
ประวัติศาสตร์มักซ้ำรอย แต่น่าแปลก ที่คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยยอมเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะคนบางคนที่เชื่อมั่นในตนเองสุดๆ ซึ่งนำการชุมนุมอยู่แถวทำเนียบในเวลานี้




โพสต์โดย: นางสาวภัทราสิยากร ณ นคร ID: 5131601005




ไม่มีความคิดเห็น: