วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551

9 พันธมิตรฯ ไม่ใช่กบฏ! ยื่นศาลถอนหมายจับ

ทนายพันธมิตรยื่นคำร้องเพิกถอนหมายจับ 9 แกนนำพันธมิตรฐานกบฎ ยันตำรวจหมกเม็ดแจ้งเกินจริง “นายณฐพร โตประยูร” ทนายความอดีตอธิบดีดีเอสไอร่วมร่างคำร้อง ศาลให้รอฟังคำสั่งวันนี้

วันนี้ ( 29 ส.ค.) เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรฯ เดินทางมายื่นคำร้องขอเพิกถอนหมายจับ นายสนธิ ลิ้มทองกุล , พล.ต.จำลอง ศรีเมือง , นายพิภพ ธงไชย , นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย , นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตร ฯ , นายอมร อมรรัตนานนท์ , นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และนายเทิดภูมิ ใจดี แนวร่วมพันธมิตร ฯ ผู้ต้องหาที่ 1-9 ที่ศาลอาญามีคำสั่งให้ออกหมายจับ เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ในความผิดฐานใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 , สะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการ หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี มาตรา 114 , 116 มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกแล้วไม่เลิก ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 215 และ 216

ตามคำร้องสรุปว่า ผู้ร้องทั้งเก้า ไม่เห็นด้วยกับการออกหมายจับดังกล่าว เพราะการออกหมายจับจะต้องปฏิบัติตาม ป.อาญา ม.66 (2) ประกอบกับข้อบังคับประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ.2548 กล่าวคือ การที่ศาลได้ไต่สวนและฟังพยานของฝ่ายพนักงานตำรวจแล้วเชื่อว่ามีพยานหลักฐานตามควรว่าผู้ร้องทั้งเก้าได้ร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.83,91,113,114,116,215,216 นั้น เป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนบิดเบือน โดยนำข้อเท็จจริงเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์กับตนมาเสนอต่อศาล ทำให้ศาลไม่ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดที่ผู้ร้องทั้งเก้าดำเนินการ ซึ่งการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯมีวัตถุประสงค์ต่อต้านระบอบทักษิณ ซึ่งเป็นเหตุทำให้เกิดวิกฤตบ้านเมือง แม้มีการเลือกตั้งแล้วยังส่งตัวแทนเข้ามาอยู่ในรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและแต่งตั้งบุคคลทำงานแทน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งผู้ร้องทั้งเก้า ได้ประกาศเจตนารมณ์เป็นระยะๆ โดยผู้ร้องทั้งเก้ามีเจตนาเพื่อที่จะให้รัฐบาลที่ได้มาจากการมิชอบ หยุดปฏิบัติหน้าที่เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อประเทศอีกต่อไป

ส่วนที่พนักงานสอบสวนนำพยานมาสืบกล่าวอ้างว่าการชุมนุมบนถนนราชดำเนินปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2551 ก็ดี ที่สะพานมัฆวานก็ดี แม้จะเป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองจนเป็นเหตุให้ประชาชนเดือดร้อนบ้าง ก็เป็นเพียงเล็กน้อยเทียบไม่ได้กับที่รัฐบาลได้ทำขึ้น ส่วนที่มีการกล่าวหาว่าผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลแพ่ง นั้นไม่ใช่ เพราะผู้ร้องได้พากลุ่มผู้ชุมนุมจากหน้าทำเนียบไปยังสะพานมัฆวานแล้ว คือเป็นการย้ายการชุมนุมอันเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งศาลแพ่งแล้ว

ส่วนที่กล่าวหาว่าผู้ร้องทั้งเก้าปลุกระดมผ่าน เอเอสทีวี จนเป็นเหตุให้ประชาชนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงเข้าร่วมชุมนุม นั้น ความจริงผู้ร้องทั้งเก้านำความจริงที่รัฐบาลกระทำไม่ชอบทั้งหลายมาเปิดเผยให้ประชาชนทราบ อาทิกรณีปราสาทพระวิหาร ส่วนที่อ้างว่าในวันที่ 26 สิงหาคม 2551 ผู้ร้องทั้งเก้าได้ประกาศต่อหน้าที่ชุมนุมว่าจะมีการบุกยึดทำเนียบนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะผู้ร้องทั้งเก้าไม่ได้ประกาศล่วงหน้า และการแบ่งผู้ชุมนุมออกเป็นกลุ่มย่อยซึ่งเรียกว่า “ดาวกระจาย” เข้าไปยึดสถานที่ต่างๆ นั้นเป็นการประท้วงตามสิทธิในรัฐธรรมนูญเพื่อให้นายกรัฐมนตรีลาออก มิได้ประสงค์ที่จะใช้กำลัง

ที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าการกระทำของผู้ร้องทั้งเก้าเพื่อล้มล้างอำนาจบริหารประเทศนั้นเป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ เพราะการเข้าไปในทำเนียบหรือสถานีเอ็นบีที ไม่ให้ออกอากาศมิได้เป็นการล้มล้างอำนาจ รัฐบาลยังคงบริหารประเทศได้ ส่วนที่ประชาชนกระจายไปตามสถานที่ราชการต่างๆ เป็นเพียงการประท้วงการทำงานที่ไม่ชอบและเพื่อชี้แจงต่อประชาชนและข้าราชการให้ทราบข้อมูล ส่วนการประกาศมาตรการอารยะขัดขืนเพื่อให้ประชาชนไม่เสียภาษี ไม่ชำระค่าประปา ไฟฟ้า ทำไปเพราะรัฐบาลนำงบประมาณไปใช้โดยมิชอบ และฟุ่มเฟือย ที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าผู้ร้องทั้งเก้าทำผิดและขอออกหมายจับ จึงเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง

จึงขอให้ศาลเพิกถอนหมายจับ โดยผู้ร้องทั้งเก้าพร้อมที่จะนำพยานหลักฐานต่างๆเข้าไต่สวนเพื่อยืนยันข้อเท็จจริง และในระหว่างเพิกถอนหมายจับของศาล ขอศาลได้โปรดมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินการตามหมายจับไว้ชั่วคราว เนื่องจากหมายดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องทั้งเก้าตามรัฐธรรมนูญ โดยศาลรับคำร้องไว้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป

นายสุวัตร กล่าวว่า ที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนหมายจับ เพราะการที่ตำรวจนำหมายจับไปปฏิบัติเช่นนี้ ไม่ใช่เจตนารมณ์ของกฎหมาย เชื่อว่าศาลคงจะเมตตา เพราะเห็นว่าขณะนี้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองแล้ว และข้อหากบฏที่ตั้งขึ้นมานั้นมันไม่ใช่ รัฐบาลพยายามแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่พันธมิตรฯพยายามเรียกร้องไม่ให้แก้ รัฐบาลทำผิดรัฐธรรมนูญตามาตรา 190 ในเรื่องการแถลงการณ์ร่วม ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแล้วก็ยังอยู่ รัฐบาลตั้งคนที่ต้องคดีอาญามาเป็นรัฐมนตรี พันธมิตรฯคัดค้าน แต่รัฐบาลก็ทำ ดังนั้นส่วนที่พันธมิตรและรัฐบาลทำนั้นมันคนละเรื่องกัน ข้อหากบฏจะใช้กับพันธมิตรฯไม่ได้ ตนมั่นใจ แต่ถ้าศาลไม่สั่งเพิกถอนหมายจับก็จะขึ้นไปศาลอุทธรณ์ทันที

นายสุวัตร กล่าวว่า ขณะนี้ได้เกิดความวุ่นวายเป็นอย่างยิ่งในบ้านเมือง เพราะมีการนำกฎหมายไปปฏิบัติไม่ถูก และตามที่ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลแพ่งเรื่องขอทุเลาการบังคับคดี ซึ่งศาลได้รับแล้ว แต่ตำรวจยังเอาคำบังคับคดีเข้าไปไล่ม็อบออกนอกทำเนียบฯ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ใช่คู่ความในคดี เรื่องนี้ถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพรามาตรา 296 เบญจ ซึ่งอยู่ในวิธีการพิจารณาความแพ่งกำหนดไว้ว่า กรณีจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง เวทีจะต้องมีการปิดหมายไว้ ณ ที่นั้นไม่น้อยกว่า 7 วัน และให้กำหนดมาตรการที่จะรื้อ แต่นี่อยู่ๆไปรื้อเลย ขณะนี้ตำรวจและเจ้าพนักงานบังคับคดีกำลังฝ่าฝืนกฎหมาย ในส่วนนี้ศาลแพ่งคงจะมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ทันที

ด้านนายณฐพร โตประยูร ทนายความที่เคยยื่นคำร้องให้ศาลอุทธรณ์เพิกถอนหมายจับ นายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเข้ามาช่วยเป็นทีมทนายในคดีนี้ กล่าวว่า การออกหมายจับคดีนี้การตั้งข้อหาเกินความเป็นจริง พยานหลักฐานที่ตำรวจนำมาก็เป็นเพียงบางส่วน การชุมนุมก็กระทำโดยสุจริตตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และการกระทำวันนี้ก็ไม่ชอบ เพราะจะไปบังคับกับประชาชนที่ไม่มีส่วนรู้เห็นนั้นมันทำไม่ได้ อย่าลืมว่าคดีแพ่งนั้นพนักงานบังคับคดีต้องไปรายงานศาลก่อนว่ามีการขัดขืน แต่นี่พอออกคำบังคับมาแล้วยังไม่มีการรายงานศาล ตำรวจก็เข้าบังคับคดีเลย ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้เรื่องการเพิกถอนหมายจับวันนี้เราก็ดูกระบวนการต่างๆไม่ชอบด้วยกฎหมาย ร้องทุกข์วันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา แล้ว วันที่ 27 ส.ค.ขอออกหมายจับ อย่างนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เราจำเป็นต้องเพิกถอนหมายจับ

ขณะเดียวกันที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก นายเมธี ใจสมุทร ทนายความโจทก์ คดีที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยลอยเลื่อน บุนนาค ยื่นฟ้อง 5 แกนนำพันธมิตร ฯ และนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตร ฯ เป็นจำเลย เรื่องละเมิด ขับไล่พันธมิตร ฯ ออกทำเนียบรัฐบาล เดินทางมายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับคดีอย่างต่อเนื่องกรณีที่ให้มีการบังคับคดีตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่งที่สั่งให้จำเลยทั้งหก กับพวกออกจากพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล และรื้อถอนเวทีปราศรัย สิ่งกีดขวาง ออกจากทำเนียบทั้งหมด และให้เปิดถนนพิษณุโลก และราชดำเนินทุกช่องจราจร

โดยนายเมธี ทนายความ กล่าวว่า เหตุที่ยื่นเป็นไปตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเกรงว่าจำเลยจะเข้าใจผิดตีความเข้าข้างตัวเองว่าคำสั่งคุ้มครองของศาลมีผลเฉพาะช่วงพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก อีกทั้งขณะนี้การบังคับคดีตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ก็ยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้นจึงขอให้ศาลมีคำสั่งที่ชัดเจนที่จะให้บังคับต่อเนื่องจากไปจนถึงหลังพระอาทิตย์ตก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอคำสั่งศาล



ที่มา:http://manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9510000102279

โพสโดย:นางสาว ศิริกานต์ ทองเครือมา ID:5131601184

ไม่มีความคิดเห็น: